Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-1150x250.gif
Banner-Yamaha-Fazzio-X-Fila-2024-400x300.gif

เทคนิคและวิธีการยกล้อ (Wheelie) ให้ได้แบบมือโปร พร้อมเทคนิคการฝึกที่จะทำให้คุณปลอดภัยและมั่นใจกว่าเดิม

Wheelie-3-770x440

นับตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ได้ถูกสร้างขึ้นมา ครั้งหนึ่งในชีวิตของไบเกอร์หลายๆคนคงเคยขี่แบบยกล้อกันมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งที่การขี่แบบนี้หาข้อดีไม่ได้เลยด้วยซ้ำและเทียบไม่ได้เลยกับการขี่รถแบบธรรมดา 2 ล้อที่สามารถจะขับขี่ได้มั่นคงและรวดเร็วกว่าการยกล้อ แต่หลายๆคนมองว่าการยกล้อได้เป็นทักษะหนึ่งของไบเกอร์ที่แสดงถึงความชำนาญและประสบการณ์การขับขี่เช่นเดียวกับการเข้าโค้งแบบเข่าเช็ดพื้นหรือภาษาทางการที่เรียกว่า “Hang On”  ซึ่งวัดถึงทักษะความชำนาญการขับขี่ในสนามแข่งนั่นเอง

การยกล้อเป็นสิ่งหนึ่งที่สนุกไม่น้อยถ้าคุณทำมันได้แต่ก็ให้ผลตรงกันข้ามถ้าทำไม่สำเร็จและส่งผลร้ายแรงได้ แน่นอนว่ามีความเสี่ยงมากมายในการทำ วันนี้จะมาดูกันว่ามีเทคนิคหรือเคล็ดลับอะไรที่จะทำให้คุณยกล้อได้แบบมือโปร! โดยบทความนี้เราจะมาพูดถึงทักษะพื้นฐานหลักๆในการยกล้อกันครับ ถ้าสนใจขึ้นมาแล้วล่ะก็มาต่อกันได้เลยครับ

คำเตือน: การยกล้อเป็นการกระทำที่อันตรายและมีความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บได้ ขอบอกไว้ก่อนว่าการยกล้อไม่ได้มีประโยชน์ต่อการขับขี่รวมถึงยังทำให้รถของคุณเสียหายได้และการยกล้อในท้องถนนเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย ควรทำในที่ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นหรือสถานที่ปลอดภัยและควบคุมได้ เช่นลานโล่งๆ เป็นต้น ทั้งนี้ขอให้พิจารณาในความเสี่ยงกันด้วยนะครับ

blank

ในการยกล้อจริงๆแล้วมีหลายวิธี ซึ่งหลักของแต่ละวิธีก็คล้ายๆกัน และหลักของการยกล้อที่สำคัญและถือเป็นหัวใจเลย คือ การเปิดคันเร่งทำให้ล้อหน้ายกขึ้น และการแตะเบรกหลังคือการลดระดับล้อหน้าลง หลัก 2 อย่างนี้สำคัญและเป็นหัวใจสำคัญของการยกล้อเลยก็ว่าได้ โดยทั่วไปในการยกล้อหลักๆจะมีอยู่ 2 แบบ คือ Power Wheelie และ Clutch Wheelie แต่การยกล้อแบบ Power Wheelie จะเป็นวิธีแรกๆที่แนะนำให้ทำกันเพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ว่าวิธีนี้จะเหมาะสำหรับรถที่มีพละกำลังมากๆหน่อยนะครับ เพราะการยกล้อวิธีนี้จะไม่ใช้คลัทช์แต่จะใช้การกระแทกคันเร่งเพียวๆเพื่อยกล้อหน้าขึ้น

ลำดับแรกในการทำการยกล้อแบบ Power Wheelie รถจะต้องอยู่ในรอบที่เหมาะสม ซึ่งรอบที่เหมาะทำการยกล้อจะอยู่ที่ประมาณ 8000รอบสำหรับรถส่วนใหญ่ในพิกัด 600cc. และสำหรับรถบางรุ่นในคลาส 1000cc. หลังจากที่รักษาระดับให้อยู่ในรอบที่ได้บอกไว้แล้วให้รักษาระดับของความเร็วไว้ที่ 32-48 กม./ชั่วโมง จากนั้นปิดคันเร่งแล้วทำการกระแทกคันเร่งหนักๆเพื่อไม่ให้รอบตกเกินกว่าที่ระบุไว้ ด้วยการกระแทกคันเร่งแบบนี้จะช่วยให้รถดึงพละกำลังจากเครื่องยนต์ไปที่ล้อหลังจนยกล้อหน้าขึ้น ต่อไปถ้าคุ้นชินกับการทำแล้วการยกล้อแบบ Clutch Wheelie ก็ไม่ยากเลยครับเพียงแต่มีการใช้คลัทช์เข้ามาช่วยเท่านั้นเอง

blank

การใช้คลัทช์เพื่อยกล้อหรือ Clutch Wheelie เป็นวิธีที่ชัวร์ที่สุดในการยกล้อนิยมใช้ในพวกสตั๊นท์ แต่การยกล้อวิธีนี้มีความเสี่ยงมากเช่นกัน วิธีทำก็จะคล้ายๆกับแบบแรกคือเลี้ยงรอบและรักษาระดับความเร็ว แล้วทำการกระแทกคันเร่งหนักๆพร้อมกับบีบคลัทช์เพื่อให้เพิ่มรอบเครื่องขึ้นไปอยู่ในระดับที่เหมาะกับการยกล้อแล้วปล่อยคลัทช์ออก ขณะที่ปล่อยคลัทช์ออกแล้วจะทำให้ล้อหน้ายกขึ้นจากนั้นก็ทำการเติมคันเร่งหรือรักษาระดับของล้อหน้าไว้ซึ่งต้องอาศัยประสบการณ์และความคุ้นชินกับรถเป็นสำคัญ แต่หลายๆคนที่เคยฝึกยกล้อคงเคยเจอกับเหตุการณ์ที่ยกล้อแล้วรู้สึกเหมือนจะหงายหลังเพราะยังไม่คุ้นชินกับการใช้คลัทช์หรือรอบเครื่องยนต์ ถ้าเจอสถานการณ์แบบนี้ก็ให้แตะเบรคหลังเพื่อลดระดับล้อหน้าลงได้ครับ อย่างที่ได้บอกไปว่าหลักสำคัญที่สุดของการยกล้อคือการเปิดคันเร่งเพื่อให้ล้อหน้ายก และการแตะเบรคหลังเพื่อลดระดับล้อหน้าลงนั่นเอง

เทคนิคเพิ่มเติม – ขอออกตัวก่อนว่าเทคนิคที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นเพียงเทคนิคจากประสบการณ์ส่วนตัวเท่านั้น อาจจะปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล  ทาง Greatbiker จะนำเทคนิคหรือคำแนะนำเพิ่มเติมที่จะช่วยในการฝึกยกล้อได้ดีและปลอดภัยมาฝากกันครับ

เลือกสถานที่ฝึกที่ปลอดภัย – ควรเลือกสถานที่ฝึกที่ปลอดภัยไม่รบกวนผู้อื่นและไม่สร้างความเดือนร้อนให้แก่คนรอบข้าง และหาที่ฝึกที่มีพื้นถนนเรียบไม่มีมีเศษหินดินทรายก็จะช่วยอำนวยความสะดวกและความมั่นใจในการฝึกยกล้อได้ดีกว่า

blank

สวมชุดป้องกันทุกครั้งที่ฝึก การฝึกยกล้อมีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดได้ทุกเมื่อ ดังนั้นการสวมชุดป้องกันก็ช่วยเพิ่มความมั่นใจและช่วยเซฟหากเกิดความผิดพลาดได้

เริ่มด้วยการยกล้อเพียงนิดเดียวก่อน – การเริ่มยกล้อนิดเดียวจะช่วยให้ผู้ฝึกคุ้นชินกับการยกล้อและลดอาการเหวอ รวมถึงได้ฝึกเรื่องของการควบคุมรถและเพิ่มความมั่นใจไปในตัว และยที่สำคัญที่สุดคือเป็นการเริ่มต้นที่ปลอดภัยที่สุดด้วยครับ

การจัดท่าทางก็สำคัญนะ – เช่นเดียวกับการเข้าโค้งที่จะต้องจัดระเบียบร่างกายให้เรียบร้อยก่อนที่จะเข้าโค้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่ การยกล้อก็เหมือนกันครับการจัดท่าทางที่ถูกต้องจะทำให้การฝึกของคุณก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จัดท่าทางโดยผ่อนคลายท่อนแขน แล็วก็เก็บขาให้แนบติดกับถังน้ำมันจะช่วยให้รถมั่นคงและทำให้ร่างกายท่อนบนรวมถึงท่อนแขนผ่อนคลายพร้อมที่จะเปิดคันเร่งได้แบบสบายๆไม่เกร็ง

ฝึกกระแทกคันเร่งให้สมูท – การยกล้อคือการเปิดกระแทกคันเร่งเพื่อให้แรงจากเครื่องยนต์ลงไปที่ล้อหลังจนทำให้ล้อหน้ายกขึ้น ซึ่งต้องกระแทกคันเร่งหนักพอที่จะให้ล้อหน้ายกแต่ก็ควรที่จะฝึกให้ชำนาญและสมูท ถ้าหากเปิดคันเร่งหนักเกินไปจะทำให้ล้อหลังจะปัดแทนได้ เพราะแรงมหาศาลจากเครื่องยนต์จะส่งไปที่ล้อหลังจนสูญเสียการยึดเกาะถนนไปจนทำให้ล้อปัดนั่นเอง ดังนั้นควรฝึกให้คุ้นเคยกับการเปิดคันเร่งจนเจอจุดที่พอดีเพราะ “ความพอดี”คือหัวใจสำคัญของข้อนี้ก็ว่าได้ครับ

ทำความคุ้นเคยกับเสียงเครื่องยนต์ที่เกียร์ 1 – การฝึกยกล้อจะเริ่มฝึกด้วยเกียร์ 1 ซึ่งหลายๆคนจะกลัวการลากรอบให้เข้าใกล้เรดไลน์ของรถทั้งๆที่ความจริงแล้วไม่ได้ทำให้เครื่องยนต์รถคุณเสียหายแบบร้ายแรงขนาดนั้น(แต่ก็คงมีสึกหรอบ้างแหละ) แต่ขอแนะนำให้ลองฝึกขี่ทางตรงโดยใช้เกียร์1 แล้วลากรอบให้เข้าใกล้เรดไลน์จนคุ้นเคยกับเสียงเครื่องยนต์ซึ่งในครั้งแรกที่ฝึกอาจทำให้จะรู้สึกแปลกๆไปบ้าง แต่เมื่อชินแล้วจะช่วยในการลากรอบเพื่อยกล้อได้ดีทีเดียวครับ

ใส่ใจระบบจำกัดรอบเครื่องยนต์ – โดยทั่วๆไปแล้วรถพิกัด 600cc. – 1000cc. รอบที่ใช้ในการยกล้อจะอยู่ที่ประมาณ 8000 รอบ แต่คนที่ฝึกใหม่ๆส่วนใหญ่มักจะใช้รอบที่สูงกว่านั้นและทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะเมื่อยกล้อแล้วลากรอบจนถึงเรดไลน์ระบบจำกัดรอบเครื่องยนต์จะทำการตัดรอบและตัดกำลังส่งจากเครื่องยนต์ที่ส่งไปล้อหลัง ผลคือทำให้ยกล้อหน้าที่อยู่ตกลงมาทันทีนั่นเองครับ ดังนั้นใส่ใจกับการลากรอบและระวังเวลารอบตัดกันด้วยนะครับเพื่อความปลอดภัยในการยกล้อ

รักษาระดับรถให้อยู่ในแนวตรง การรักษาระดับรถให้อยู่ในแนวตรงจะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในการยกล้อโดยเฉพาะมือใหม่หัดยก การหนีบถังให้แน่นจะช่วยให้ควบคุมทิศทางรถได้ดีขึ้นเพราะบางครั้งการยกล้อในขณะที่ยกล้อรถจะเสียสมดุลเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ส่งผลให้การยกล้อไม่สำเร็จนั่นเองครับ

อย่าละเลยเบรกหลัง – เบรกหลังเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการยกล้อ ในกรณีที่ล้อหน้ายกมากเกินไปมีเพียงเบรกหลังเท่านั้นที่ช่วยควบคุมระดับของล้อหน้าได้และคิดว่าคงไม่มีใครอยากยกล้อแล้วหงายหลัง ดังนั้นอย่าลืมที่จะแสตนด์บายวางเท้าไว้ที่เบรคหลังจนเป็นนิสัยนะครับ

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก rideapart.com