รีวิว Honda CBR250RR ทดสอบใช้งานจริง เจาะลึกทุกรายละเอียด
เป็นอันเข้าใจตรงกันว่า รถสปอร์ตแฟริ่งที่ร้อนแรงที่สุดในชั่วโมงนี้ก็คงหนีไม่พ้น New Honda CBR250RR คันนี้ ที่แฟนๆ สายซิ่งเฝ้ารอคอยกันมาอย่างเนิ่นนาน และเป็นที่ฮือฮาทุกครั้งที่มีข่าวลือว่ามันจะมีการขายกันในบ้านเรา นับตั้งแต่การเปิดตัวกันไปที่ต่างประเทศก่อนหน้านี้ และแล้วในที่สุดมันก็เปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในงาน Motor Show 2019 ซึ่งตอนนี้ตัวรถนั้นก็อยู่ในมือของทีมงาน GreatBiker แล้ว รายละเอียดของตัวรถและการขับขี่จริงจะเป็นอย่างไรบ้าง ไปชมกันเลย!
เจาะลึก New Honda CBR250RR ทุกรายละเอียด
สำหรับ New Honda CBR250RR นั้นเป็นรถสปอร์ตในรหัส RR ของทางค่ายปีกนก ที่ย่อมาจาก Racing Replica หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ มันเป็นรถในสเปกเดียวกันกับสนามแข่ง และถูกออกแบบมาเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ ด้วยเส้นสายการออกแบบตัวรถที่มีความเฉียบคม เน้นเหลี่ยมเน้นสันอย่างชัดเจน มีความ Aggressive ในตัวสูง ไฟหน้าออกแบบมาเป็นแบบ 4 ดวงแยกซ้ายขวาข้างละ 2 ดวง มีความดุดันและลงตัวกลมกลืนไปกับชุดแฟริ่งหน้ากาก ตรงนี้นับได้ว่ามันเป็นความประทับใจอย่างหนึ่งของผู้พบเห็นแต่แรกเลยก็ว่าได้ ซึ่ง New Honda CBR250RR คันนี้ทาง A.P. Honda นำเข้ามาจากญี่ปุ่น 100% ทั้งคัน
เครื่องยนต์ของ New Honda CBR250RR นั้นมาพร้อมกับความจุกระบอกสูบขนาด 249.7 cc แบบ 2 สูบเรียง ขนาดกระบอกสูบ X ช่วงชักอยู่ที่ 62.0 X 41.3 มม. ให้แรงม้าสูงสุดที่ 38 PS และแรงบิดสูงสุดอยู่ที่ 23 นิวตันเมตร ระบายความร้อนด้วยหม้อน้ำ จ่ายน้ำมันด้วยระบบหัวฉีด PGM-FI ขับเคลื่อนด้วยระบบเกียร์ 6 สปีด มีการออกแบบช่องแรมแอร์ เพื่อนำอากาศเข้าสู่หม้อกรองอากาศ เพื่อทำให้เครื่องยนต์นั้นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีการออกแบบแคมชาฟท์ในลักษณะเดียวกันกับรถซุปเปอร์ไบค์ในคลาสใหญ่ๆ เพื่อให้อัตราเร่งและแรงม้าของตัวรถนั้น สามารถรีดออกมาได้อย่างเต็มที่ และตัวรถยังมีช่องลมที่บริเวณเบาะท้ายเพื่อทำให้การไหลผ่านของกระแสลมนั้นดีขึ้น รถไม่ต้านลม พร้อมกับการออกแบบหัวลูกสูบและกระบอกสูบที่เน้นความทนทานเป็นพิเศษ ซึ่งตัวรถนั้นมีเรดไลน์อยู่สูงมากถึง 14,000 รอบต่อนาทีด้วยกัน นั่นก็หมายความว่าเราสามารถลากแต่ละเกียร์ได้ลึกมากๆ ตามเรดไลน์ที่ตั้งไว้
แฮนด์รถนั้นจะเป็นแบบแฮนด์คลิปออนจับโช้กใต้แผงคอ ทำให้การวางแขนของเรานั้นจะต้องก้มไปด้านหน้า ประกอบกับการออกแบบจุดวางพักเท้าของคนขี่ ให้เยื้องออกไปทางด้านหลังรถ และเบาะนั่งแบบสองตอนยกระดับ ทำให้ท่านั่งในการขับขี่นั้นจะมาในแนวเรซซิ่งแบบเต็มตัว และตรงถังน้ำมันนั้นก็สามารถล็อกเข่าทั้ง 2 ข้างของเราได้อย่างกระชับ ในขณะที่ท่อแบบปลายคู่นั้น ก็เป็นท่อจริงทั้งสองอัน ไม่ใช่ท่อที่ตกแต่งเพื่อความสวยงามแต่อย่างใด ไล่ตั้งแต่กระบอกสูบ คอท่อไปจนถึงปลายท่อ
อีกจุดหนึ่งที่ถือว่าโดดเด่นกว่าคู่แข่งในคลาสเดียวกันก็คือในเรื่องของคันเร่งไฟฟ้า Throttle by Wire ที่มาพร้อมกับโหมดการขับขี่ที่แตกต่างกัน 3 โหมดครับ ประกอบไปด้วยโหมด Comfort, Sport และ Sport + ซึ่งคันเร่งไฟฟ้าอันนี้จะส่งสัญญาณจากคันเร่งไฟฟ้าไปยังกล่องสมองกลหรือว่า ECU เพื่อให้คำนวณอัตราการจุดระเบิดและการจ่ายน้ำมัน ที่แตกต่างกันในแต่ละโหมด (เดี๋ยวเราจะไปว่ากันในการทดสอบอีกครั้ง ว่าแต่ละโหมดจะมีรายละเอียดต่างกันอย่างไรบ้าง) โดยเราสามารถเปลี่ยนโหมดได้ที่กระเดื่องกดตรงตำแหน่งนิ้วชี้ที่แฮนด์ด้านซ้าย ซึ่งการที่ให้โหมดที่แตกต่างกันมานั้น ถือว่าเป็นความชาญฉลาดอย่างหนึ่งของทางค่าย Honda ที่ตั้งใจทำโมเดลนี้มาเพื่อขายทั้งคนที่ต้องการนำไปใช้งานในสนามแข่ง และคนที่เน้นการใช้งานในชีวิตประจำวันด้วย ตัวรถ CBR250RR ยังมาพร้อมกับโครงถักแบบ Truss Frame ที่ให้ความแข็งแรงทนทาน และก็ได้ในเรื่องของความสวยงามยามที่มันมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวรถด้วย และอย่างที่เกริ่นไปว่าตัวรถเป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งคัน ดังนั้นในเรื่องงานประกอบและวัสุดุต่างๆ ที่ใช้นั้นถือว่ามีความปราณีตและอยู่ในระดับดีมาก ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นควอลิตี้ที่เป็นมาตรฐานของรถ Made In Japan อยู่แล้ว
ในส่วนของช่วงล่างนั้น ระบบกันสะเทือนด้านหน้าจะเป็นแบบหัวกลับ Upside Down ของแบรนด์ดังอย่าง Showa ส่วนด้านหลังนั้นเป็นแบบโปรลิงค์ที่สามารถปรับระดับได้ 5 ระดับด้วยกัน ตามความต้องการในการใช้งาน สวิงอาร์มจะเป็นแบบอลูมิเนียม ระบบเบรกจะเป็นดิสก์เดี่ยวแบบทรงคลื่น ทำงานร่วมกับปั้มเบรกของ Nissin แบบ 2 ลูกสูบสำหรับเบรกหน้า ส่วนเบรกหลังเป็นแบบ 1 ลูกสูบ ทำงานร่วมกับระบบเบรก ABS ยางที่ติดรถมาให้นั้นจะเป็นยางของ Dunlop รุ่น SPORTMAX แบบ Tubeless ไซส์ยางด้านหน้าจะมีขนาด 110/70 และด้านหลัง 140/70 ความจุถังน้ำมันให้มาอยู่ที่ 14.5 ลิตรซึ่งถือว่าเยอะทีเดียวสำหรับรถในคลาส 250 ทำให้เราไม่ต้องคอยเติมน้ำมันบ่อยๆ
ทดสอบขับขี่ New Honda CBR250RR
เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยเห็นเจ้า CBR250RR คันนี้ในสนามแข่งอย่างรายการ ARRC มาบ้างแล้ว และรู้ว่ามันทำผลงานได้ยอดเยี่ยมขนาดไหน ดังนั้นในการทดสอบของเราครั้งนี้ จะพามันไปวิ่งกันบนท้องถนนจริงๆ ตามการใช้งานในชีวิตจริงที่จะเกิดขึ้น เพราะคนที่ซื้อไปใช้งานกันก็คงจะไม่ได้เอาไปลงสนามเพียงอย่างเดียวแน่นอน ตัวรถนั้นมีมิติที่ค่อนข้างกระชับ เบาะนั่งความสูงเพียง 790 มม. ซึ่งถือว่าเหมาะสมกับสรีระมาตรฐานของไบค์เกอร์ชาวไทย ประกอบกับตัวรถที่มีน้ำหนักเบาเพียง 168 กก. เท่านั้น ทำให้มีความคล่องตัวสูง สามารถพลิกรถในที่แคบๆ ได้อย่างสบาย ทำความคุ้นเคยกับตัวรถได้เร็ว
ในการทดสอบครั้งแรกนี้ เราเปิดใช้โหมดการใช้งานแบบ Comfort กันก่อน โหมดนี้ถือว่ามีคันเร่งที่ค่อนข้างเชื่องมือ สำหรับการขับขี่กันครั้งแรกๆ ก็อยากให้ลองกันในโหมดนี้ก่อน อัตราเร่งจะมาแบบเนิบๆ นิดนึงในย่านความเร็วต้น ซึ่งโหมดนี้จะเป็นโหมดสำหรับเน้นการใช้งานในเมือง ในการจราจรที่ติดขัด เน้นการประหยัดน้ำมัน สามารถเลี้ยงคันเร่งแบบชิลๆ ได้ ซึ่งคนที่ขี่โหมดนี้อาจจะยังไม่รู้สึกถึงความพิเศษของรหัส RR มากนัก
ทีนี้สำหรับการวิ่งในถนนที่โล่ง มีโอกาสได้ใช้ความเร็วมากขึ้นเราเลยลองเปลี่ยนมาใช้โหมด Sport ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างกับโหมด Comfort แบบเห็นได้ชัดระดับหนึ่งเลย เพราะคันเร่งที่เคยเชื่องๆ นั้น เริ่มที่จะดุดันมากขึ้นแล้ว เสียงของเครื่องที่เราได้ยินก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในย่านความเร็วกลาง เสียงของเครื่องยนต์นั้นจะเร้าใจเอามากๆ (ตรงนี้เชื่อว่าหลายคนน่าจะชื่นชอบ) และแน่นอนถ้าอยากจะไปให้มันปลดปล่อยพละกำลังออกมาให้สุดกว่านี้ ก็ต้องไปที่โหมด Sport + ซึ่งโหมดนี้จะไม่ต้องเน้นความประหยัดน้ำมันอะไรกันแล้ว และปล่อยม้าทั้ง 38 ตัวออกจากคอกให้หมดสิ้น ฟีลลิ่งของการขับขี่โหมดนี้ก็คือรถแข่งดีๆ นี่เอง การแทงคันเร่งในแต่ละเกียร์นั้นมีความจัดจ้านเอามากๆ การทำความเร็วในย่าน 0 – 140 นั้นสบายๆ แทบจะแค่ไม่กี่อึดใจเท่านั้น และในช่วง 140 ถึงประมาณ 180 ก็ถือว่าใช้ได้เลย อาจจะต้องลากรอบให้ลึกๆ ก็ยิ่งจะช่วยให้ขึ้นได้ไว (ตรงความเร็วปลายนี้ไม่แน่ใจว่ากล่องตัดความเร็วแถวๆ นี้หรือไม่ แต่คาดว่าสเปกเครื่องยนต์นั้นน่าจะไปได้มากกว่านี้อีก) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสรีระของผู้ขับขี่ด้วย
ในเรื่องของช่วงล่างนั้น บอกเลยว่าเจ้า Upside Down ของ Showa ด้านหน้านั้นทำหน้าที่ซับแรงสะเทือนได้ดีมาก ตรงนี้ส่งผลให้ข้อมือของเราไม่เมื่อยล้ามากนักแต่อย่างใด ถึงแม้ท่านั่งในการขับขี่จะเป็นแบบการก้มกดแขนลงไปที่แฮนด์ก็ตาม สามารถขี่ท่านี้ไกลๆ ได้ดีกว่ารถทรงสปอร์ตบางคัน ส่วนระบบกันสะเทือนหลังนั้นก็สามารถปรับกันได้ตามใจชอบ แต่ที่เราได้ลองกันก็เป็นการเซ็ทค่าเดิมๆ มาจากโรงงานเลย ออกแนวกลางๆ ค่อนไปทางแข็งๆ นิดๆ ไม่ย้วยหรือนุ่มมากนัก การเข้าโค้งนั้นตัวรถออกแบบที่หนีบล็อคเข่าบริเวณถังน้ำมันได้ดี ทำให้ท่านั่งในโค้งนั้นเป็นธรรมชาติตามแนวเรซซิ่งอย่างเต็มตัว ส่วนแฟริ่งรถที่เน้นการทำ Aerodynamic มาเป็นอย่างดี ทำงานร่วมกับช่องแรมแอร์ก็ช่วยให้ตัวรถนั้นไม่ต้านลมมากนักแต่อย่างใด
บทสรุปของ New Honda CBR250RR
การทำตลาดของ A.P. Honda ในครั้งนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นรถในคลาสต่ำกว่า 650cc ของ Honda จะถูกนำเข้ามาขายกันในบ้านเรา ดังนั้นราคาของมันก็เลยค่อนข้างจะโดดออกมาจากรถในคลาส 250 – 300cc ในแนวๆ ใกล้เคียงกัน แต่ตรงนี้ต้องอย่าลืมว่ามันเป็นราคาที่ไม่แตกต่างจากราคาที่ขายกันในประเทศญี่ปุ่นมากนัก บวกค่าขนส่ง ฯลฯ เคาะออกมาที่ 249,000 บาท ซึ่งทาง A.P. Honda เองก็ได้ช่วยในเรื่องของการทำอัตราเรทดอกเบี้ย 0.99% ต่อปีซึ่งถือว่าถูกมากๆ ตัวรถเองนั้นมีฟีเจอร์ที่ครบครันอย่างที่เราได้รีวิวไป และสามารถเรียกได้เต็มปากว่า มันสามารถรีดเอาศักยภาพของรถออกมาได้อย่างเต็มที่ อย่างที่รถในคลาส 250cc สักคันหนึ่งจะทำได้ แต่ถ้าจะเอาไปเปรียบเทียบกับรถใน cc ที่สูงกว่านี้แน่นอนว่ามันก็ย่อมที่จะต้องเสียเปรียบในเรื่องของแรงบิดและอัตราเร่งเป็นธรรมดา ตรงนี้ก็ต้องตัดสินใจกันดูว่าจะมองในเรื่องของ cc เป็นที่ตั้ง หรือถ้าต้องการฟีลลิ่งและคาแรกเตอร์แบบรถแข่งในสนามแท้ๆ มีฟีเจอร์ที่ครบครัน บวกกับพละกำลังของตัวรถที่โดดเด่นเป็นพิเศษกว่ารถในคลาส 250cc ปกติ ก็ต้อง New Honda CBR250RR นี่แหละ เป็นคำตอบที่ชัดเจนมากที่สุดในตอนนี้ และดูเหมือนว่ายอดขายของมันจะไปได้ดีเอามากๆ แบบเกินคาดกันในบ้านเราด้วยสำหรับเวลานี้
สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณทางบริษัท A.P. Honda จำกัดที่เอื้อเฟื้อรถสำหรับการทดสอบของ GreatBiker ในครั้งนี้ และพบกันใหม่ในการรีวิวรถคันต่อไปได้เร็วๆ นี้
Sakon Supapornopas – Website founder greatbiker.com I like all types of motorcycles. Working in the automotive industry for more than 10 years, in-depth analysis of new motorcycle models. that will be launched in Thailand and abroad Review from actual use experience