วิเคราะห์การพัฒนา 2020 Honda CBR1000RR ตัวใหม่
ตกเป็นข่าวการพัฒนาโมเดลใหม่มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2019 กับการพัฒนาโมเดลใหม่ล่าสุดของว่าที่รถมอเตอร์ไซค์สปอร์ตฟูลแฟร์ริ่งระดับ Superbike จากค่ายปีกนก Honda ซึ่งตกเป็นประเด็นให้บรรดาเหล่าสาวกของ CBR ได้ถกเถียงกันว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไหน และในบทความนี้ ทางทีมงาน GreatBiker จะขอสรุปข่าวลือทั้งหลายและคาดเดาว่าในประเด็นแต่ล่ะอันนั้นจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงไหน ซึ่งต้องของบอกเลยว่ามันเป็นการคาดเดาจากข้อมูลและเป็นความคิดเห็นส่วนตัวซึ่งอาจจะไปค้านกับความคิดของเพื่อนๆไปบ้าง ก็ต้องขออภัยไว้นะที่นี้เลยนะครับ ส่วนจะมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง ไปติดตามกันได้เลยครับ
ระบบวาล์วแปรฟัน (VTEC)
จากข้อมูลในการยื่นเอกสารสำหรับการจดสิทธิบัตรของค่ายปีกนก หลายๆ ครั้งเรามักจะได้เห็นเรื่องของเครื่องยนต์บล็อกใหม่ ที่มีระบบวาล์วแปรผันหรือ VTEC เข้ามามีความเกี่ยวข้องกับ CBR1000RR ตัวใหม่เสมอๆ ซึ่งต้องบอกเลยว่า ประเด็นนี้มีความเป็นไปได้อย่างมาก เพราะด้วยความพร้อมของเทคโนโลยีและช่วงเวลาในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่น่าจะมาถึงแล้ว อีกทั้งหากเรามองไปที่ค่ายคู่แข่งจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว จะมีเพียง Suzuki เท่านั้นที่ใส่ระบบวาล์วแปรผันในเจ้า GSX-R1000 และ R1000R เข้ามาเป็นอีกหนึ่งจุดขาย ซึ่งล่าสุด Yamaha YZF-R1 ตัวใหม่นั้นก็ยังไม่มีระบบวาล์วแปรผันเข้ามา และถ้าหาก Honda จะใส่ระบบ VTEC เข้ามาก็จะช่วยทั้งประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ที่จะตอบสนองได้ดีกว่า เสถียรมากกว่า และตัวรถก็จะแรงกว่าเดิม ที่อาจจะเพิ่มแรงม้าสูงสุดทะลุ 210 ตัวเลยทีเดียวแต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือเรื่องของราคาที่จะปรับขึ้นตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
ความน่าจะเป็น 80%
แรงม้าจะทะลุ 200 ตัวหรือไม่
สืบเนื่องจากหัวข้อที่แล้วหากทาง Honda ใส่ระบบ VTEC เข้ามาเป็นตัวช่วยเรื่องการทำงานของเครื่องยนต์นั้น ข้อมูลทางเทคนิคเปิดเผยว่า CBR1000RR VTEC นั้นจะมีแรงม้าสูงสุด 212 แรงม้า (PS) หรืออาจจะสูงกว่านี้ก็เป็นไปได้ และเมื่อเรามองไปที่การพัฒนาล่าสุดของคู่แข่งจากฝั่งยุโรปอย่าง BMW S1000RR ที่ก็เพิ่งใส่ระบบวาล์วแปรผัน ShiftCam เข้ามา ก็มีส่วนสำคัญในการช่วยให้แรงม้าเพิ่มขึ้นจาก 200 แรงม้า (PS) ไปเป็น 209 แรงม้า (PS) เลยทีเดียว
ความเป็นไปได้ 90%
ถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก RC213V ตัวแข่ง MotoGP ของทางค่าย
สำหรับประเด็นนี้มีการแตกไลน์ออกไปหลายๆส่วน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของตัวรถ ชุดอากาศพลศาสตร์ (Winglet) ระบบกันสะเทือนหลัง รวมไปถึงชุดขับเคลื่อน AMT ที่ทางทีมแข่ง Repsol Honda เอาไปใช้งานในการแข่งขัน MotoGP จากการวิเคราะห์แล้วพบว่า ความน่าจะเป็นมากที่สุดคือชุดแฟร์ริ่งและชุดอากาศพลศาสตร์ จะมีโอกาสมากที่สุด ส่วนเรื่องของระบบขับเคลื่อนนั้นมีความเป็นไปได้ว่าจะไม่ใช่ AMT แต่จะเป็นระบบเกียร์แบบ DCT แทนซึ่งเราจะมาคุยกันต่อในหัวข้อต่อไป
ความน่าจะเป็น 70%
2020 CBR1000RR จะมีด้วยกันสามรุ่น
หากเรามองไปที่โมเดลปัจจุบัน CBR1000RR ถูกแบ่งออกเป็น 3 รุ่นหลัก ประกอบไปด้วย รุ่นปกติที่เป็นมาตรฐาน รุ่น SP1 ที่ปรับในเรื่องของระบบช่วงล่างใหม่และกันสะบัดไฟฟ้า ชิ้นส่วนบางชิ้นจะผลิตจากคาร์บอน ระบบเกียร์แบบ Quick Shifter และรุ่น SP2 โมเดลสำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะที่จะใช้สเปกเดียวกับ SP1 แต่จะมีการปรับชิ้นส่วนจะเป็น Full Carbon รวมไปถึงตัวระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบพิเศษ และวางจำหน่ายในจำนวนจำกัด ซึ่งโมเดลใหม่ในปี 2020 นั้น ก็จะเป็นไปตามรูปแบบนี้ โดยจะมีการผลิต 3 รุ่นเช่นเดียวกับโมเดลในปัจจุบัน แต่ในรุ่น SP2 นั้นอาจจะมีความเป็นไปได้สูงที่ทางผู้ผลิตจะพัฒนาโครงสร้างตัวถังและสวิงอาร์มหลังแบบคาร์บอนขึ้นมาใหม่และใส่ในโมเดลของปี 2020 ซึ่งจะเป็นรถที่สามารถใช้งานได้เฉพาะในสนามการแข่งขันเท่านั้น
ความเป็นไปได้ 90%
ระบบเกียร์แบบ DCT จะเข้ามาเสริมตัวรถหรือไม่
ระบบเกียร์ DCT (Dual Clutch Transmission) หรือจะเรียกแบบภาษาชาวบ้านว่า ระบบเกียร์แบบกึ่งออโต้ นั้นเป็นเอกสิทธิ์ของรถมอเตอร์ไซค์ Honda เท่านั้น ซึ่งหากมองไปที่ระบบเกียร์ชุดนี้แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด แต่สิ่งที่แปลกก็คือเรื่องของเครื่องยนต์แบบ 4 ลูกสูบเรียงของ CBR1000RR นั้นอาจจะดูไม่ค่อยเข้ากับระบบเกียร์แบบนี้สักเท่าไหร่ และยิ่งมีข่าวลือว่า ทางผู้ผลิตจะมีการขยายปริมาณกระบอกสูบไปเป็น 1,100 ซีซี ยิ่งมีความเป็นไปไม่ได้ที่สูงมาก แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวยืนยันการพัฒนาเครื่องยนต์ 1,100 ซีซี แบบสองลูกสูบเรียงที่จะอยู่ใน CRF1100L Africa Twin ตัวใหม่ โดยมีระบบเกียร์ DCT เป็นอีกหนึ่ง Option ให้กับลูกค้า ซึ่งเมื่อเอาสองข้อมูลนี้มาผนวกกันแล้ว เป็นไปได้ว่า Honda เองอาจจะมีการแตกไลน์โมเดลสำหรับสายสปอร์ตทัวร์ริ่งใหม่ ที่ใช้ชุดเครื่องยนต์ สองลูกสูบ 1,100 ซีซี และระบบเกียร์ DCT เป็นตัวชูโรงและอาจจะเปิดรหัสใหม่แทนที่ VFR1200F ก็เป็นไปได้
ความน่าจะเป็น 10%
หน้าจอแสดงผล TFT แบบสัมผัส
มีเพียงสองค่ายที่ตกเป็นข่าวในการพัฒนาส่วนของหน้าจอแสดงผลแบบสัมผัสในรถมอเตอร์ไซค์สปอร์ตฟูลแฟร์ริ่งคลาส 100 ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Honda ซึ่งมันน่าจะถูกใช้ในงานโมเดลใหม่นี้ โดยเฉพาะรุ่น SP1 ที่จะมีส่วนควบคุมระบบอิเล็กทรอนิกส์ของระบบโช้คอัพ กันสะบัดไฟฟ้า และการปรับใช้งานค่าต่างๆา ของระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ภายในตัวรถให้สมารถใช้งานได้อย่างง่ายดายมากขึ้น
ความเป็นไปได้ 90%
โมเดลนี้จะถูกพัฒนาเพื่อตอบสนองการแข่งขันอย่างแท้จริง
หากเรามองไปที่รายการแข่งขันระดับโลกอย่าง MotoGP แล้ว เจ้า RC213V รถแข่งของทีมโรงงานและทีมรองในเวทีนี้ ก็ถูก Downgrade เพื่อนำไปใช้งานบนถนนในโมเดล RC213Vs ส่วนเวที WorldSBK นั้นก็มีเจ้า CBR1000RR SP1 ลงทำการแข่งขันอยู่แล้ว และผลงานช่วงเวลา 5 ปีให้หลังมานี้ โดยรวมก็ไม่ได้ดีเด่นและหนักไปทางค่อนท้ายเสียอีก ซึ่งเมื่อมีการปรับโมเดลใหม่ทางค่ายผู้ผลิตเองก็ต้องคิดเผื่อสำหรับการแข่งขันไว้อยู่แล้ว และในเวทีการแข่งขันนั้นก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญในการโปรโมทผลิตภัณฑ์ของทางค่าย และทางผู้ผลิตเองก็น่าจะให้ความสำคัญกับมันเพื่อสร้างฐานแฟนคลับและกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จากการแข่งขันอีกด้วย
ความเป็นไปได้ 90%
ทั้งหมดนี้ขอย้ำว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของทีมงาน GreatBiker ซึ่งอาจจะมีความถูกต้องมากน้อยเพียงใดก็ต้องมาดูกันในช่วงของการเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยการคาดเดาแล้วการเปิดตัว Honda CBR1000RR โมเดลใหม่นั้น จะเกิดขึ้นในงาน Tokyo Motor Show 2019 ปลายเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ หากมีความเคลือนไหวครั้งใหม่ ทาง GreatBiker จะรีบนำมาบอกต่อเพื่อนๆ ในโอกาสต่อไปครับ
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก kojintekibikematome.blog.jp
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.