Bajaj กำลังเล็งการพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับเชื้อเพลิง CBG
Bajaj ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์จากประเทศอินเดีย เป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตที่มีการผลิตรถมอเตอร์ไซค์จำนวนมาก และมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์ด้วยเชื้อเพลิงที่หลากหลาย โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดตัว Bajaj Freedom 125 รถมอเตอร์ไซค์คันแรกของโลกที่ใช้เชื้อเพลิง CNG และดูเหมือนว่าทางแบรนด์จากเมืองโรตีนั้น จะไม่หยุดเพียงแค่นั้น
ในขณะที่ผู้ผลิตในส่วนอื่นๆ ของโลกดูเหมือนจะหมกมุ่นอยู่กับการอัดเทคโนโลยี พลัง และท้ายที่สุดคือของที่มีราคาแพงกว่าลงในมอเตอร์ไซค์ของตน บริษัทอินเดียอย่าง Bajaj กลับมุ่งเน้นไปที่สิ่งอื่นๆ ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริงและเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานในราคาที่เอื้อมถึงได้ เมื่อไม่นานนี้ เราได้พูดคุยกันถึงวิธีที่ Bajaj เปิดตัวมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ก๊าซ CNG รุ่นแรกของโลก Freedom 125 อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า Bajaj จะไม่พอใจกับการใช้ก๊าซ CNG เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการผลักดันให้มีเชื้อเพลิงทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต
นั่นคือเหตุผลที่ Rajiv Bajaj ซีอีโอของ Bajaj ประกาศเมื่อไม่นานนี้ว่าบริษัทมีแผนที่จะศึกษาการใช้งานเชื้อเพลิง CBG (Compressed Biomethane Gas) ซึ่งเป็นก๊าซชีวภาพ เพื่อเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีราคาถูกและมีปริมาณมาก และเนื่องจากองค์ประกอบหลักของก๊าซชีวภาพคือมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซชีวภาพมาจากแหล่งต่างๆเช่น ขยะอินทรีย์ โรงบำบัดน้ำเสีย การถมดิน อย่างไรก็ตาม ก๊าซชีวภาพสามารถใช้ได้กับโรงงานที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น
เพือให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น Bajaj ได้เปิดตัว Freedom 125 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และตัวรถใช้เวลาเพียงเดือนเศษๆ เท่านั้น ในการสร้างยอดขายที่สูงถึง 25,000 คันเฉพาะในประเทศอินเดีย เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคชาวอินเดียกำลังมองหาวิธีเดินทางที่ราคาไม่แพง Bajaj เน้นย้ำถึงศักยภาพของ CBG ในฐานะเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน โดยต้องเพิ่มปริมาณการผลิตในอนาคต
ในทางกลับกัน CNG และ CBG ถือเป็นเชื้อเพลิงสะอาด แต่ทั้งสองอย่างมีความแตกต่างกันในแง่ของแหล่งที่มา ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของแต่ละอย่าง รวมถึงประโยชน์ที่อาจได้รับ CNG มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งส่วนใหญ่มาในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติที่สกัดมาจากแหล่งสำรองใต้ดิน ดังนั้น CNG จึงไม่ใช่เชื้อเพลิงที่เป็นกลางทางคาร์บอนแต่อย่างใด มันยังคงปล่อยมลพิษออกมาจากการเผาไหม้ แม้จะไม่สูงหากเทียบกับเชื้อเพลิงอย่างเบนซินหรือดีเซลก็ตาม
ในขณะเดียวกัน CBG ผลิตจากขยะอินทรีย์เช่น เศษวัสดุทางการเกษตร ปุ๋ยคอกปศุสัตว์ และแม้แต่ขยะอาหาร ก๊าซ CBG ผลิตขึ้นโดยใช้กระบวนการที่เรียกว่าการย่อยแบบไม่ใช้ออกซิเจน เป็นพลังงานหมุนเวียน และสามารถหาได้จากแหล่งในท้องถิ่น และในทางเทคนิคแล้ว CBG ถือเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นกลางทางคาร์บอน เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาในกระบวนการเผาไหม้จะถูกชดเชยด้วยคาร์บอนที่ดูดซับระหว่างวงจรชีวิตของแหล่งอินทรีย์
ในปัจจุบัน CNG อยู่ในสภานะที่ไม่ได้แตกต่างจากเชื้อเพลิงเบนซินและดีเซลเท่าไหร่นัก เพราะมันเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด มันไม่ใช่ทรัพยากรหมุนเวียน และในที่สุดเชื้อเพลิงชนิดนี้จะไม่สามารถผลิตได้อีกต่อไป และนี่คือเหตุผลที่ Bajaj มุ่งมั่นที่จะผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ CBG ที่สามารถหมุนเวียนและสามารถผลิตใช้งานได้อย่างไม่มีวันหมด ถ้าจะหมดก็คือมนุษย์เลือกสร้างขยะจากการกระทำของตนเอง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการแปรรูปขยะธรรมชาติและอินทรีย์เป็น CBG ยังคงมีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน แต่ครั้งหนึ่งแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ EV ก็เคยเกิดปัญหาในรูปแบบเดียวกันนี้ และเช่นเดียวกับทุกสิ่งในโลก ยิ่งเราผลิตอะไรออกมามากเท่าไร ก็ยิ่งมีราคาถูกลงเท่านั้น ดังนั้น ยิ่งเรานำเชื้อเพลิงทางเลือกเช่น CBG มาใช้มากเท่าไร ผู้คนก็จะเข้าถึง CBG ได้มากขึ้นเท่านั้น
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.rideapart.com
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.