ไม่อ่านระวังคุยกับเพื่อนไม่เก็ท!!! กับวิธีการดู MotoGP ยังไงให้สนุก กับการแข่งขันครั้งแรกในประเทศไทยก่อน Winter Test เร็วๆ นี้
สุดยอดการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ทางเรียบชิงแชมป์โลก MotoGP ที่จัดมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 80 ปี โดยเริ่มต้นการแข่งขันในฤดูกาลแรกในปี 1949 ภายใต้รายการ World Champion Motorcycles Grand Prix และได้เปลี่ยนมาเป็น MotoGP ในปี 2002 เนื่องในการแข่งขันปี 2018 นี้ประเทศไทยได้ถูกบรรจุเป็นหนึ่งในสนามการแข่งขันของรายการนี้ด้วย วันนี้ทาง GreatBiker ขอพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับความเป็นมาและกฏกติกาในการแข่งขันกัน เพื่อที่จะทำให้เราได้เข้าใจและดูการแข่งขันได้สนุกแบบสุดขีดนั่นเอง
ประวัติศาสตร์ของ MotoGP แบบสรุปอย่างย่อ
โดยในปี 1949 ปีแรกของการแข่งขันนั้นมีถึง 5 ระดับในการแข่งขัน ประกอบไปด้วย 125 ซีซี 250 ซีซี 350 ซีซี 500 ซีซี และ Sidecar โดยใช้เครื่องยนต์แบบ สองจังหวะ และมีการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับนวัตกรรมของเครื่องยนต์รุ่นใหม่ โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในปี 2002 ในการเปลี่ยนชื่อรายการแข่งขันจากเดิมมาเป็น MotoGP และได้ปรับเรื่องของเครื่องยนต์ที่ใช้ในการแข่งขัน และจำแนกประเภทออกมาได้ 3 รุ่น ประกอบไปด้วย MotoGP ที่มาทดแทนระดับ 500 ซีซี โดยมีการวางกฎกติกาที่ชัดเจนว่าจะต้องใช้เครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะ และเครื่องยนต์จะต้องมีขนาดความจุของกระบอกซีซีตั้งแต่ 800 – 1000 ซีซี หรือหากเป็นเครื่องยนต์แบบ 2 จังหวะจะต้องมีขนาดความจุไม่เกิน 500 ซีซี โดยยังคงระดับ 125 ซีซี และ 250 ซีซี ไว้เช่นเดิม ซึ่ง ในปี 2010 ก็มีการออกกฎใหม่ บังคับให้ทีมแข่งขันนั้นจะต้องใช้เครื่องยนต์แบบ 4 จังหวะเท่านั้น โดยขนาดความจุจะต้องอยู่ที่ 800 – 1000 ซีซี และจะต้องมีน้ำหนักตัวรถที่ไม่ต่ำกว่า 160 กิโลกรัมขึ้นไป ห้ามใช้ชิ้นส่วนแฟร์ริ่งหรือโครงสร้างที่ผลิตจากไทเทเนียม รวมไปถึงห้ามติดตั้งระบบ Super Charger หรือระบบ Turbo เข้ามาช่วยเพิ่มความแรงของตัวรถ
Valentino Rossi หมายเลข 46 ผู้ครองแชมป์สูงสุด 9 สมัย กับปีสุดท้ายของการแข่งขัน MotoGP
นี่เป็นประวัติแบบคร่าวๆ ของการแข่งขัน MotoGP ส่วนเรื่องจะทำอย่างไรให้เราสามารถซึมซับความสนุกสนานของกีฬามอเตอร์สปอร์ตได้นั้นจะต้องมีความเข้าใจในกติกาและการให้คะแนนเสียก่อน โดยเราจะมาดูการให้คะแนนของแต่ล่ะสนามการแข่งขัน และกติกาของการแข่งขันที่น่าสนใจมาให้เพื่อนๆได้ทราบโดยทั่วกันนะครับ
กติกาการแข่งขันโดยสังเขป
- นักแข่งจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี และไม่เกิน 50 ปี
- รถที่ใช้ในการแข่งขันจะต้องมีขนาดเครื่องยนต์ไม่ต่ำกว่า 800 ซีซี และไม่เกิน 1000 ซีซี
- ห้ามติดตั้งระบบ Super Charger หรือ Turbo หรือระบบแปรผันของการอัดอากาศมาใช้ในการแข่งขันโดยเด็ดขาด
- ห้ามให้ทีมแข่งขันใช้ชิ้นส่วนแฟร์ริ่งและตัวถังรถที่ผลิตจากวัสดุ ไทเทเนียม
- ห้ามใช้หัวหรือกระบอกลูกสูบที่ผลิตจาก คาร์บอน
- น้ำหนักของตัวรถเมื่อรวมกับของเหลวแล้วจะต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 157 กิโลกรัมขึ้นไป
- เครื่องยนต์ต่อ 1 นักแข่งสามารถใช้ได้สูงสุด 5 เครื่องต่อหนึ่งฤดูกาลเท่านั้น หากใช้เกินจะต้องถูกลงโทษด้วยการออกสตาร์ทจาก Pit Lane หลังจากนักแข่งทั่วไป ออกสตาร็ทไปแล้ว 10 วินาที
- กติกา Flag To Flag นักแข่งสามารถเข้ามาเปลี่ยนรถคันใหม่ได้ โดยรถคันที่สองจะต้องเซ็ทอัพไว้ก่อนที่จะออกสตาร์ท ซึ่งกติกานี้เป็นกติกาที่เริ่มใช้ในปี 2017 เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุใน Pit Lane
- กติกา Green Zone กติกานี้เกิดขึ้นเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุในการแข่งขัน โดยขอบสนามที่ทาสีเขียวไว้นั้นจะเป็นพื้นที่ห้ามข้าวของนักแข่ง หากใครเผลอหรือจงใจเข้าสู่ Green Zone นั้นจะถูกปรับให้คืนอันดับ หรือเพิ่มเวลาแล้วแต่กรณี
- กติกาการใช้ยาง ยางของการแข่งขันในระดับ MotoGP นั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ก็คือ ยางแห้ง และยางเปียก โดยยางแห้งนั้นจะมีการแบ่งประเภทตามความหนาของผิวยางแบ่งออกได้ 3 แบบ Hard Medium และ Soft ส่วนยางเปียกนั้นจะมีระดับความแข็งเพียง 2 ระดับคือ ยาง Hard และ Medium
- จำนวนยางที่สามารถใช้ได้สูงสุดในการทดสอบ 1 ฤดูกาลอยู่ที่ 120 ชุด ไม่รวมยางที่ใช้แข่งจริง
การลงโทษนักแข่งเมื่อละเมิดกติกา
MotoGP ใช้ระบบการสะสมคะแนนจากความประพฤติในสนามการแข่งขัน ซึ่งจะว่ากันไปเป็นกรณี เช่นการขับขี่หวาดเสียวเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พฤติกรรมก้าวร้าวในสนามการแข่งขัน หรือแม้กระทั่งการไม่เคารพเพื่อนนักแข่งด้วยกันเอง โดยมีการวางโทษ ไว้ ด้วยกัน 3 ระดับ เมื่อสะสมครบ 4 คะแนนจะถูกลงโทษให้ออกสตาร์ทจากแถวหลังสุด เมื่อสะสมครบ 7 คะแนนจะได้ออกสตาร์ทจาก Pit Lane ซึ่งมีการจำกัดความเร็วที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สะสมครบ 10 คะแนนรับโบนัสถูกสั่งห้ามแข่งในสนามต่อไปทันทีโดยไม่ต้องขออุทธรณ์ โดยการลงโทษนั้นจะมีอายุ 1 ปี หลังจากการรับโทษ ซึ่งหากมีการพฤติผิดซ้ำจะมีการสะสมคะแนนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะครบ 1 ปี ยกตัวอย่างเช่น นักแข่งทำกิริยาก้าวร้าวในสนามการแข่งขัน คณะกรรมการลงโทษปรับ 1 คะแนนในวันที่ 1 ตุลาคม 2017 อายุของคะแนนที่สะสมจะหมดลงในวันที่ 1 ตุลาคม 2018 แต่ถ้าหากนักแข่งไปทำผิดในช่วงเวลาของอายุบทลงโทษเช่น ทำผิดซ้ำในวันที่ 3 มีนาคม 2018 โดนปรับ 2 คะแนน ตัวนักแข่งจะมีคะแนนสะสมที่ 3 คะแนนละจะหมดอายุใน วันที่ 3 มีนาคม 2019 เป็นต้น
ทำความเข้าใจการแข่งขัน
โดยทั่วไปแล้วส่วนใหญ่จะชื่นชอบรับชมการแข่งขันในวันจริง ซึ่งจะตรงกับวันอาทิตย์ในการแข่งรายการต่างๆ แต่มีไม่มากเท่าไหร่นักที่จะรู้ว่าจริงๆ แล้ว MotoGP เค้าเริ่มแข่งกัน 3 วันนะจ๊ะ โดยแบ่งออกเป็น วันที่ 1 : Practice Day ที่จะเป็นวันซ้อมก่อนการแข่งขันจะมีรอบ FFP1 – 2 โดยแต่ล่ะรอบนั้นจะมีการจับเวลา 45 นาที ต่อการซ้อม 1 รอบ วันที่ 2 : Qualifying Day โดยจะมีการฝึกซ้อมทั้งสิ้น 2 รอบ ในรอบ FFP3-4 ซึ่งในรอบ FFP3 นั้นจะใช้เวลาทั้งสิ้น 45 นาที และ 30 นาที ใน FFP4 โดยในรอบ FFP3 จะมีการจับเวลาหา 10 นักแข่งที่ทำเวลาในแต่ Sector ได้ดีที่สุด เข้าสู่รอบ Q2 (Qualify 2) โดยในรอบ Q2 นั้นถือว่าเป็นการผู้ที่จะได้ออกสตาร์ทในตำแหน่งต่างๆ และหากใครสามารถเข้าไปในรอบ Q2 ได้จะการันตีการออกสตาร์ทที่เส้นที่ 12 เป็นอย่างต่ำ (หากไม่ทำผิดกฎและสะสมคะแนนครบตาม มาตราที่ตกลงกันไว้) โดยนักแข่งที่ไม่ได้ไปรอในรอบ Q2 นั้นจะต้องผ่านการ Q1 (Qualify 1) โดยจะหา 2 นักแข่งที่ทำเวลาได้ดีที่สุดเข้าไปยังรอบ Q2 สมทบกับนักแข่ง 10 คนที่ผ่านเข้ารอบไปก่อนหน้านี้ โดยกำหนดเวลาของ Q1 นั้นจะอยู่ที่ 15 นาที และ Q2 อีก 15 นาที โดยนักแข่งจะออกมาวิ่งในช่วงเวลาใดก็ได้ภายใน 15 นาที ที่กำหนดไว้ โดยสามารถกลับเข้าไปพัก และออกมาวิ่งใหม่ โดยห้ามให้มีการปรับแต่งตัวรถในขณะที่เข้าไปพักใน Pit วันที่ 3 : Race Day จะมีการออกไปวิ่ง 2 รอบ คือ Warm Up จะเป็นการออกวิ่งครั้งสุดท้ายและทำการเซ็ทอัพรถเป็นครั้งสุดท้ายก่อนการแข่งขันจริง และในรอบ Race เข้าสู่การแข่งขันที่จะเป็นการแข่งขันจริง ซึ่งการชมแบบต่อเนื่องทั้ง 3 วันในการแข่งขันนั้นจะทำให้เราได้เห็นถึงพัฒนาการของบรรดานักแข่งและทีมแข่งอย่างชัดเจน และจะได้เห็นการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ทางทีมงานและนักแข่งนั้นจะแก้ไขเพื่อให้ตัวเองไปได้เร็วที่สุดในสนามการแข่งขันนั่นเอง
Johan Zarco เจ้าของตำแหน่ง Rookies of The Year เมื่อฤดูกาล 2017
การให้คะแนนหลังจบการแข่งขัน
คะแนนการแข่งขันนั้นถูกวางระบบไว้โดยผู้ชนะในแต่ล่ะสนามจะได้รับ 25 คะแนน อันดับที่สอง 20 คะแนน และอันดับที่สาม 16 คะแนน โดยจะลดระดับของคะแนนลงไปเรื่อยจนถึงผู้เข้าเส้นชัยที่อันดับ 15 จะได้ 1 คะแนน หากใครเข้าเส้นชัยต่ำกว่าหรือไม่จบการแข่งขันไม่ว่ากรณีใดจะไม่ได้รับคะแนนแม้นแต่คะแนนเดียว
การให้คะแนนหลังจากการแข่งขัน
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นสำหรับมือใหม่ที่กำลังให้ความสนใจใน MotoGP กีฬามอเตอร์สปอร์ตที่เรียกได้ว่าเป็นรายการที่ใหญ่ที่สุดของวงการกีฬาเลยก็ว่าได้ หากเพื่อนๆ ทำความเข้าใจและศึกษามันให้ลึกลงไปจะรู้ว่ามีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่เราไม่ได้ลงลึกไว้ให้ (คิดว่าแค่นี้ก็ดูจะหนักเกินไปล่ะ ฮ่าๆ ) โดยทั้งหมดนี้เป็นกฎกติกาเฉพาะของการแข่งขันนี้เท่านั้น โดยในรายการอื่นๆ อย่าง WSBK, British Motorcycles Grand Prix หรือ AMA ของฝั่งอเมริกานั้นจะมีกติกาที่แตกต่างกันออกไป โดยฤดูกาล 2018 ของ MotoGP นั้นจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 18 มีนาคม 2018 ที่ประเทศการตาร์ในรายการ Grand Prix of Qatar ที่สนาม Losail International Circuit โดยเพื่อนๆ สามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของการแข่งขันและผลการแข่งขันได้ที่ GreatBiker.com เช่นเคยครับ
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.motogp.com www.motorsport.com
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.