สวิงอาร์มคืออะไร แล้วมันมีกี่แบบ และมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อรถบิ๊กไบค์???
มีเพื่อนๆ หลายคนมักจะสอบถามถึงเรื่องของระบบสวิงอาร์ม เข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งนอกจากที่เราจะรู้จักว่ามีมีแบบสวิงอาร์มคู่, สวิงอาร์มเดี่ยวแล้ว จริงๆ หน้าที่ของมันคืออะไรกันแน่ วันนี้ทีมงาน GreatBiker เลยจะขอนำเสนอเรื่องของสาระที่เกี่ยวข้องกับ “สวิงอาร์ม” กันครับ
หน้าที่ของ Swingarm สามารถอธิบายได้อย่างง่ายๆ ว่านอกจากจะเป็นจุดในการเชื่อมตัวรถและล้อเข้าด้วยกันแล้ว มันยังทำหน้าที่ในการรับแรงดึงจากการหมุนของล้อหน้าและทำการส่งแรงจากการหมุนของเครื่องยนต์ที่ส่งไปยังล้อหลังในการออกตัว รวมไปถึงการรับแรงกระแทกและแรงดึงจากการเบรกของล้อทั้งหน้าและหลัง และการรับแรงบิดที่เกิดจากการเอียงตัวของรถในเวลาที่เราเข้าโค้ง
หากเรามองย้อนกลับไปในยุคเก่า รถมอเตอร์ไซค์แทบจะทุกรุ่นมักจะใช้สวิงอาร์มแบบตรงกันเป็นส่วนมาก ด้วยเพราะรูปทรงที่ทำให้เกิดขุดยึดต่อที่สามารถติดตั้งได้ง่ายแล้ว การผลิตสวิงอาร์มแบบตรงนั้นต้นทุนและเทคโนโลยีนั้นก็ไม่ได้สูง และสลับซับซ้อนมากมายนัก แต่แตกต่างกับในปัจจุบันที่เราจะได้เห็นสวิงอาร์มหลังแบบ Banana ที่มีรูปทรงคล้ายๆ กับกล้วย คือเป็นรูปทรงที่โค้งงอ ไม่ตรงอีกต่อไป
Suzuki RG500 รถแข่งขันแรกที่ใช้งาน Banana Swingarm
หากเราสืบค้นในประวัติศาสตร์โลกมอเตอร์ไซค์แล้ว สวิงอาร์มแบบ Banana นั้น เราจะพบมันครั้งแรกในรถแข่งของค่าย Suzuki กับโมเดล RG500 ที่ Kevin Schwatz ยอดนักบิดในยุคนั้นใช้ในการแข่งขัน World Grand Prix ซึ่งนั้นถือว่าเป็นรถ Stock ที่ผลิตมาเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ ซึ่งหากเราจะมองไปที่รถ Producation นั้นก็จะต้องย้อนกลับไปในปี 1996 กับรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติอิตาเลี่ยน Aprillia RS250 ที่ถือว่าเป็นรถมอเตอร์ไซค์คันแรกของโลกที่ใช้งาน Banana Swingarm ในรถที่วางขายในตลาดทั่วไป
1996 Arpillia RS250 รถ Production คันแรกที่ใช้งาน Banana Swingarm
มองกลับมาที่ผู้ผลิตฝั่งเอเชียกันบ้าง สำหรับค่ายแรกที่เริ่มเอา Banana Swingarm มาใช้ในรถ Prodution นั้นก็คือ Yamaha กับโมเดล Super Sport อย่างเจ้า 2003Yamaha YZF-R6 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับโมเดลของปี 2002 แล้วเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลง โดยทีมงานวิศวกรของ Yamaha ได้เลือกใช้วิธีการหลอมอลูมิเนียมด้วยระบบสูญญากาศ ซึ่งกระบวนการหล่อพิมพ์แบบนี้จะทำให้เกิดความพรุนของพื้นผิวที่น้อย ทำให้มันสามารถรับแรงและกระจายแรงได้ดีกว่าการหล่อสวิงอาร์มแบบอื่นๆ ซึ่งเทคโนโลยีนี้เรียกกันว่า CF เทคโนโลยี
2002 Yamaha YZF-R6
2003 Yamaha YZF-R6
ต้องขอขอบคุณนวัตกรรที่ทาง Yamaha พยายามคิดค้นกันมา เพราะการใช้เทคโนโลยี CF นั้นจะทำให้วัสดุที่หล่อนั้นมีน้ำหนักที่เบา และมีความแข็งแรงทนทานกว่าการหล่อแบบธรรมดาทั่วไป เพราะการเข้าไปแทรกตัวของอากาศใน ขณะทำการหล่อจะทำให้เกิดรูพรุนจำนวนมาก ซึ่งเจ้ารูพรุนนี้เราไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้ และเจ้ารูพรุนนี้แหละคือผู้ร้ายตัวจริงที่ทำให้ความแข็งแรงของวัตถุนั้นลดน้อยลงไป
โดยข้อดีของ Banan Swingarm ก็คือ ลดพื้นที่ในการติดตั้งล้อหลังกับตัวรถให้มีมิติที่สั้นลงไป และเมื่อมิติที่สั้นลงไปนั้นการส่งแรงและรับแรงจะสามารถทำได้รวดเร็วกว่า สาเหตุที่ทำเป็นรูปทรงโค้งก็เพราะการส่งแรงของล้อหลังที่เกิดจากการหมุนของเครื่องยนต์ส่งไปยังระบบส่งกำลังสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นเพลา โซ่ หรือสายพาน แรงจะไปเกิดที่ล้อหลัง ซึ่งเจ้า Banana Swingarm นี้จะสามารถส่งแรงนี้ไปยังล้อหน้าได้รวดเร็วกว่า Swingarm แบบตรง แต่สิ่งที่ต้องชดเชยไปก็คือความสามารถในการลดแรงดึงที่เกิดจากการเบรกที่ล้อหน้านั้นจะลดลงไปโดยแรงดึงที่เกิดจากการเบรกเมื่อบวกกับน้ำหนักตัวรถทั้งหมดแรงบางส่วนจะหายไปจากส่วนโค้งบนสุดของ Swingarm นั่นเอง
ส่วนเรื่องของ Single Side Swingarm นั้นในยุคเริ่มต้นเราจะพบเจอเจ้าสวิงอาร์มแบบนี้ในรถสกู๊ตเตอร์ขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ โดยรถมอเตอร์ไซค์คันแรกที่ติดตั้ง Single Side Swingarm ก็คือเจ้า Imme R100 รถมอเตอร์ไซค์โบราณจากค่าย Riedel AG ที่ผลิตในช่วงปี 1948 – 1950 ในประเทศเยอรมัน ซึ่งข้อดีของมันมีอยู่ 3 อย่างก็คือ การรับแรงบิดในแนวดิ่งหรือแนวตั้งนั้นจะทำได้ดีกว่า และสิ่งที่เป็นข้อดีที่สุดของมันก็คือ ความสะดวกสบายในการเปลี่ยนยางนั่นเอง สังเกตเห็นได้ในพวกรถแข่งแบบ Endurance ที่ต้องมีการวิ่งทำรอบให้ได้มากที่สุดตามเวลาที่กำหนดไว้ การเปลี่ยนยางชุดใหม่นั่น เรื่องเวลาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดยิ่งเราหย่อนเวลาในการถอดและใส่ชิ้นส่วนได้ไวเท่าไหร่นั้นก็จะเป็นผลดีต่อการแข่งขันนั่นเอง และข้อดีอีกหนึ่งอย่างที่เราเองก็ไม่ค่อยอยากจะนับมันเท่าไหร่นั้นก็คือความเท่ห์ มันจะดูโดดเด่นกว่าใครๆ เวลาเราวิ่งไปบนท้องถนน
1948-1950 Riedel AG Imme R100 มอเตอร์ไซค์ Single Side Swingarm คันแรกของโลก
ส่วนข้อเสียของ Single Sode Swingarm ก็คือ ราคาต้นทุนในการผลิต สิ่งที่แลกมากับความสะดวกสบายก็คือการต้องออกแบบเจ้าสวิงอาร์มตัวนี้ให้สามารถรับแรงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเวลาขับขี่ได้ และการที่มีแขนจับเพียงด้านเดียวนั้น การเลือกใช้วัสดุที่จะนำมาผลิตมันก็ต้องมีความพิเศษในเรื่องของความแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษมากกว่าการจะเอาอลูมิเนียมทั่วๆ ไปมาหล่อขึ้นมาเป็นรูป และข้อเสียอีกหนึ่งอย่างของมันก็คือการปรับแต่งตำแหน่งของโซ่หรือชุดส่งกำลังสุดท้ายนั้น จะต้องใช้เครื่องมือเฉาพะทาง และยังต้องอาศัยความชำนาญและเทคนิคที่แตกต่างกันกับสวิงอาร์มทั่วไป
สรุปสุดท้ายแล้ว Swingarm แต่ล่ะรูปแบบนั้นก็จะมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการใช้งานของรถแต่ล่ะคัน ซึ่งสุดท้ายแล้วสวิงอาร์มไหนก็ทำหน้าที่เหมือนๆ กัน และให้ความรู้สึกในการขับขี่ที่ไม่ต่างกัน ดังนั้นแล้วการเลือกใช้สวิงอาร์มแบบไหนก็ช่าง ทางค่ายผู้ผลิตต่างต้องคิดทบทวนมาเป็นอย่างดีแล้วถึงจะเลือกใช้รูปแบบนั้นๆใส่ใน Product ของตนเอง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ความชอบส่วนตัวของผู้ขับขี่แล้วล่ะครับว่าชื่นชอบในรูปลักษณ์ของสวิงอาร์มแบบไหน แต่สุดท้ายผลลัพธ์ของมันก็คือไม่ได้แตกต่างกันมากมายอย่างที่ใครหลายๆ คนเชื่อกัน
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.motorcycle.com
Sakon Supapornopas – Website founder greatbiker.com I like all types of motorcycles. Working in the automotive industry for more than 10 years, in-depth analysis of new motorcycle models. that will be launched in Thailand and abroad Review from actual use experience