4 เหตุผลและวิธีการป้องกันการขับขี่มอเตอร์ไซค์แล้วล้มเอง
อุบัติเหตุไม่จำเป็นต้องมีคู่กรณีเสมอไป เราพบเห็นกันอยู่บ่อยๆ จากการล้มเองของผู้ขับขี่รถที่อาจจะมีสกิลในการขับขี่ หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่เด็ดขาด จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ที่เราต้องสูญเสียทั้งทรัพย์สินหรืออาจจะถึงขั้นเสียชีวิต วันนี้ทีมงาน GreatBiker ขอรวบรวม 4 เหตุผลที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากตัวเองและวิธีแก้ไขครับ
1.เสียสมาธิ
การขับขี่มอเตอร์ไซค์หรือการขับขี่ยานพาหนะอื่นๆ จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีสมาธิในการขับขี่ เราเคยพบเห็นผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บางคนที่ ใช้สมาธิไปกับเรื่องอื่นๆ นอกจากมองเส้นทางหรือตั้งสมาธิในการระวังภัยจากรอบข้าง เราเคยเห็นคนขับขี่มอเตอร์ไซค์ไปด้วยเล่นมือถือไปด้วย บางคนขี่มอเตอร์ไซค์ไปสูบบุหรี่ไป บางคนก็ขี่ไปคุยกับคนที่โดยสารไปด้วย หรือบางคนขับขี่ในสภาพที่ไม่พร้อม ตรงจุดนี้บอกได้ว่าเราอาจจะสูญเสียสมาธิในการขับขี่ไป ซึ่งบางคนอาจจะมองว่ามันไม่น่าจะร้ายแรงมาก แต่การกระทำแบบนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความประมาทที่อาจจะพาเราไปพบเจอกับการสูญเสียได้ ดังนั้นการมีสมาธิ สติ ก่อนการขับขี่ ทำกิจกรรมต่างๆให้เสร็จสิ้นก่อนที่ขี่รถ หรือในกรณีที่จะเป็นจริงๆ ก็จอดเพ่อทำสิ่งนั้นให้เสร็จเสียก่อน อย่าคิดว่าทำแป๊ปเดียวไม่น่ามีปัญหา เพราะคำว่าแป๊ปเดียว อาจจะหมายถึงเสี้ยววินาทีที่เราอาจจะเจอกับอะไรที่ไม่คาดคิดได้
2.ไม่รู้จักรถตัวเองดีพอ
รถมอเตอร์ไซค์นั้นมีความคล่องตัวสูง สามารถมุดผ่านการจารจรที่ติดขัดได้เป็นอย่างดี แต่อย่าลืมว่าก่อนที่เรามุดได้อย่างคล่องแคล่วนั้นการฝึกฝนการควบคุมรถ และการฝึกทรงตัวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อเราฝึกฝนและทำตัวให้คุ้นเคยกับรถที่เราใช้ เรียนรู้บุคคลิกของตัวรถ อัตราเร่ง การถ่ายเทน้ำหนัก จุดศูนย์ถ่วงของรถอยู่ตรงไหน การเรียนรู้ทำความเข้าใจตัวรถที่เราขับขี่นั้นมีความสำคัญไม่น้อย หากเรารู้จักรถที่เราขับขี่เป็นอย่างดี เราจะรู้ว่าจังหวะไหนที่รถเราสามารถสร้างกำลังเพียงพอที่จะแซง ควรเปิดคันเร่งขนาดไหนที่จะประครองรถได้ เบรกขนาดไหนถึงจะล้อไม่ล็อก สิ่งเหล่านี้เราทำความเข้ากับมันได้อย่างไม่ยากครับ ก็แค่ขับขี่ไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะสามารถจับบุคคลิกของตัวรถได้ด้วยตัวเอง เพราะการบอกต่อไม่ช่วยอะไรเท่ากับการทดสอบด้วยตัวเองครับ
3.มีทักษะการขับขี่ไม่เพียงพอ
บางคนคิดว่าถ้าขี่จักรยานเป็นแล้ว มอเตอร์ไซค์ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก มันก็ถูกส่วนหนึ่งนะครับ เพราะยานพาหนะสองอย่างนี้ใช้หลักการการทรงตัวเหมือนๆ กันแต่มีความแตกต่างที่ความเร็ว และการควบคุม จักรยานเวลาที่เพื่อนๆจะเลี้ยวสามารถหักแฮนด์เพื่อทำการเลี้ยวได้อย่างไม่ยากเย็น แต่รถมอเตอร์ไซค์แล้วหลักการเลี้ยวหรือเข้าโค้งที่ถูกต้องคือการเอียงตัวถ่ายเทน้ำหนักของตัวรถไปยังส่วนในของโค้งด้วยความเร็ว อีกอย่างส่วนควบคุมความเร็วของจักรยานอยู่ที่แรงถีบจากขา แต่รถมอเตอร์ไซค์อยู่ที่ข้อมือ ความแตกต่างสองอย่างนี้หากไม่ฝึกฝนให้คล่องเสียก่อน ก็มีโอกาสทำให้เพื่อนๆได้นอนกินดินเล่นได้ง่ายๆ นะครับ โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ที่มีขนาดเครื่องยนต์ใหญ่ๆ บางคนคิดว่าเราขี่มอเตอร์ไซค์มาหลายปีแล้ว แต่รถที่เราขี่นั้นเป็นรถแม่บ้าน พอจะเปลี่ยนมาลองขี่รถใหญ่ก็ไม่น่าจะยากอะไรมันก็สองล้อเหมือนกัน บอกได้ว่าคิดผิดมากครับ ยิ่งรถที่มีขนาดเครื่องยนต์ที่ใหญ่ขึ้นยิ่งต้องการทักษะในการขับขี่ที่สูงขึ้น การเรียนรู้และฝึกฝนจึงจำเป็นอย่างมาก
4.สายโชว์
สิ่งเหล่านี้หากทำถูกที่ ถูกเวลาจะดีไม่น้อย แต่เมื่อไปทำบนท้องถนนสาธารณะ ที่มีบรรดาเพื่อนร่วมทางแล้ว อันตรายจากการกระทำที่คึกคะนองของเราก็อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี มันต้องมีคนมองว่าเท่ห์ และก็ต้องมีคนมองว่าทำไปเพื่ออะไรด้วย เหรียญมีสองด้านเสมอ หากเราทำสำเร็จก็แค่เสมอตัว หากพราดมามีแต่คนจะด่าซ้ำนะครับ ยังไงช่วยเตือนๆ กันหน่อยก็ดีเหมือนกันนะ
ทั้งหมดนี้น่าจะพอให้เพื่อนๆได้ใช้ความคิดของตัวเอง เพื่อแยกแยะสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำได้ในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญเป็นที่สุดก็คือการที่เรารู้จักตัวเองให้มากพอ มีทักษะให้มากพอ และประสบการณ์ในการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ที่มากพอ มันก็จะทำให้เพื่อนๆ หลีกห่างจากการเกิดอุบัติเหตุได้ ไม่มากก็น้อยแล้วครับ
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก rideapart.com
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.