มหากาพย์! เจาะลึกประวัติศาสตร์ของรถมอเตอร์ไซค์ตระกูล GSX-R จาก Suzuki ที่บอกเลยว่าไม่ธรรมดา!
หากจะพูดถึง Suzuki GSX-R รถมอเตอร์ไซค์สปอร์ตฟูลแฟร์ริ่งที่หลายๆ คนชื่นชอบเอามากๆ โดยถือว่าเป็นอีกหนึ่งตระกูลที่มีกลุ่มคนให้ความสนใจอย่างมากไม่ว่าจะเป็นโมเดลเก่าหรือใหม่ เพราะล้วนแล้วแต่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง และมีเอกลักษณ์แตกต่างจากรถในท้องตลาดทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด วันนี้ทีมงาน GreatBiker เลยอยากจะพาเพื่อนๆไปย้อนอดีตดูประวัติศาสตร์ของรถในตระกูล GSX-R ของค่าย Suzuki กันครับ
ยุคคลาสสิก!!!
จุดเริ่มต้น 1984 Suzuki GSX-R400
หากเรานับตามปีจริงๆ ของการจัดจำหน่ายแล้วเราจะพบว่า เจ้า Suzuki GSX-R400 นั้นถือว่าเป็นโมเดลแรกของตระกูล GSX-R โดยมีปีที่จัดจำหน่ายในช่วงปี 1984-1996 กินระยะเวลากว่า 12 ปีในการจำหน่าย โดยพื้นฐานของเจ้า GSX-R400 คันนี้จะมาพร้อมกับเครื่องยนต์ขนาด 398 ซีซี 4 ลูกสูบเรียง 4 จังหวะ 16 วาล์วแบบ DOHC ให้แรงม้าสูงสุดที่ 59 แรงม้า โดยมีจุดเด่นที่ระบบระบายความร้อน SATCS หรือ Suzuki Advanced Three-way Coolling System ที่จะเป็นการผสมผสานการระบายความร้อนด้วยอากาส น้ำ และสารหล่อเย็น ซึ่งถือว่าเป็นโมเดลแรกที่ใช้ระบบระบายความร้อนนี้ในรถมอเตอร์ไซค์
1985 Suzuki GSX-R750
รุ่นที่สองของตระกูล GSX-R ที่เรียกได้ว่าได้รับความสนใจไปทั่วโลกและสร้างความนิยมด้วยยอดการจัดจำหน่ายสูงสุดของตระกูล GSX-R ของ Suzuki เลยทีเดียว ซึ่งเอกลักษณ์ที่แตกต่างของเจ้า GSX-R750 คันนี้กับรถทั่วไปในท้องตลาดก็คือบุคลลิกของเครื่องยนต์ที่ก้าวร้าว ไม่มีความเป็นมิตรต่อผู้ขับขี่ ประหนึ่งกับม้าพยศที่รอนักขี่ฝีมือดีมาปปราบมันนั่นเอง
1986 Suzuki GSX-R400
Generation ที่สองของเจ้า R400 ที่พัฒนาจากโมเดลแรกในปีก่อนหน้านี้ ด้วยครอบล้อแบบอลูมิเนียมที่แข็งแรงกว่า โครงสร้างตัวถังใหม่ โคมไฟหน้าเดี่ยวขนาดใหญ่ ที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของเจ้า GSX-R400 ที่มีเพียงโฉมนี้เท่านั้นที่เป็นไฟหน้าแบบโคมเดี่ยว
1986 Suzuki GSX-R1100
ในปีเดียวกันที่ปล่อยโฉมใหม่ของ GSX-R400 ทางค่ายคนบ้าก็ปล่อยรุ่นใหญ่อย่าง Suzuki GSX-R1100 รุ่นใหญ่ที่มีขนาดเครื่องยนต์ที่ 1,052 ซีซี 128 แรงม้า น้ำหนักตัวเพียง 192 กิโลกรัมแบบไม่รวมน้ำมัน ซึ่งถึงแม้ว่าเครื่องยนต์จะใหญ่กว่า GSX-R750 อยู่พอสมควร แต่กลับมีขนาดตัวและน้ำหนักที่เบากว่า ซึ่งจะนับว่ามันคือรถมอเตอร์ไซค์ตัวพันที่มีขนาดและน้ำหนักที่เบาที่สุดในยุคนั้นก็ว่าได้
1987 Suzuki GSX-R50
หากจะบอกว่ามันคือรุ่นเล็กสุดของตระกูล GSX-R ก็ว่าได้ ด้วยเครื่องยนต์ขนาด 50 ซีซี ที่เหมาะสมกับเด็กโตที่อยากเป็นนักแข่ง ใช้มันเป็นครูในการฝึกฝนฝีมือการขับขี่ ซึ่งโมเดลนี้สามารถจดทะเบียนและวิ่งบนท้องถนนไม่ได้ด้วยมิติที่เล็กและขนาดของเครื่องยนต์ที่ไม่มากพอ มันจึงกลายเป็นของสะสมในปัจจุบัน ซึ่งยังพอหาได้ในตลาดมือสอง
1987 Suzuki GSX-R250
เมื่อเรามีรุ่นเล็ก 50 ซีซี แล้ว ก็ต้องมีรุ่นเล็กขนาด 250 ซีซี ของตระกูล กับเจ้า GSX-R250 เครื่องยน์ต์ 248 ซีซี 4 ลูกสูบ 16 วาล์ว DOHC ซึ่งเป็นแบบสากลทั่วไป ถือว่าเจ้า GSX-R250 นั่นเป็นน้องคนสุดท้องของตระกูลที่สามารถใช้ขับขี่บนท้องถนนได้จริงนั่นเอง
1988 Suzuki GSX-R400
โฉมใหม่ของ GSX-R400 ที่กลับมาใช้งานไฟหน้าคู่อีกครั้ง นอกเหนือจากระบบไฟที่ปรับเปลี่ยนแล้ว โครงสร้างก็ถูกปรับอีกครั้ง โดยคราวนี้ทำให้น้ำหนักตัวของเจ้า R400 เหลือเพียง 160 กิโลกรัมเท่านั้น และในปีต่อมาทาง Suzuki ก็ได้ปรับแต่งส่วนต่างๆ และวางจำหน่ายเจ้า Suzuki GSX-R400 SP เพิ่มเติมอีกด้วย
1988 Suzuki GSX-R750
โมเดลนี้นับว่าเป็นการเปลื่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ GSX-R750 ด้วยโครงสร้างใหม่ แฟร์ริ่งใหม่ เครื่องยนต์ใหม่ ระบบท่อไอเสียใหม่ ชุดเบรกใหม่ โดยโมเดลนี้มีชื่อเล่นที่เรียกกันในวงการว่า Sling-Shot โดยเครื่องยนต์ใหม่บล็อกนี้ทำให้ได้แรงม้าสูงสุดที่ 115 ตัว โดยแบกน้ำหนักตัวที่ 208 กิโลกรัมแบบไม่รวมน้ำมัน
1989 Suzuki GSX-R1100
การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของพี่ใหญ่ในตระกูล สำหรับในปี 1989 GSX-R1100 ได้รับเครื่องยนต์ใหม่ขนาดใหญ่กว่าเดิม ด้วยเครื่องยนต์ขนาด 1,127 ซีซี 147 แรงม้าที่มากขึ้นกว่าเดิม โครงสร้างใหม่ น้ำหนักตัวเพียง 210 กิโลกรัม ซึ่งโมเดลนี้เป็นคู่ปรับตลอดกาลของ Yamaha FZR 1000EXUP
1989 Suzuki GSX-R250R
รุ่พิเศษรหัสห้อยท้าย R ซึ่งมันก็ต้องเป็นรถ Replica อย่างแน่นอน แต่น่าแปลกใจที่เจ้า GSX-R250R นั่นกลับถูกเพิ่มน้ำหนักตัวให้มากขึ้นกว่ารุ่นปกติถึง 5 กิโลกรัม แต่ทุกข้อสงสัยเราก็ได้รับความกระจ่าง สืบเนื่องมาจากแรงม้าที่มากขึ้น โดยการปรับแต่งในครั้งนี้ทำให้ได้แรงม้าสูงสุดที่ 45 แรงม้า จึงต้องเพิ่มน้ำหนักตัวเพื่อให้สมดุลกันนั่นเอง
1990 Suzuki GSX-R400
อัพเกรดใหม่ของ R400 ด้วยโครงสร้างใหม่ตามแนวทางของรถแข่งใน GP แต่การปรับโครงสร้างครั้งนี้กลับทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยที่ 167 กิโลกรัม และนี้ก็เป็นมาตรฐานของ GSX-R400 ที่ใช้งานอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1990 – 1995 โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงของตัวรถเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
1992 Suzuki GSX-R750W/GSX-R600
ยุคที่สี่ของเครื่องยนต์ขนาด 750 ซีซี ของตระกูล GSX-R โดยคราวนี้มาพร้อมรหัสใหม่ห้อยท้ายอย่าง W ที่ย่อมาจาก Water Cooling หรือระบบระบายความร้อนด้วยน้ำ ที่เป็นระบบความร้อนที่แตกต่างจากระบบ SATCs ที่เราคุ้นเคย ซึ่งในปีเดียวกันนี้ทาง Honda ได้เปิดตัว CBR800RR Fireblade ที่มีน้ำหนักที่เบากว่าและแรงกว่า ซึ่งมันเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Suzuki GSX-R750W ด้วยเครื่องยนต์ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งในปี 1994 มีการปรับน้ำหนักตัวเบากว่าเดิม 10 กิโลกรัม โดยในปี 1992 นั้นทาง Suzuki ก็ได้เปิดตัว GSX-R600 พื้นฐานโครงสร้างเดียวกับ R750W ด้วยเครื่องยนต์ที่เล็กกว่า ด้วยแรงม้าที่ 106 ตัว
1993 Suzuki GSX-R1100
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของพี่ใหญ่อีกครั้ง โดยเครื่องยนต์ใหม่ระบบระบายความร้อนใหม่ด้วยหม้อน้ำ แรงม้าที่เพิ่มขึ้น 155 แรงม้า น้ำหนักตัว 213 กิโลกรัมไม่รวมน้ำมัน ซึ่งในปี 1995 มีการปรับปรุงสวิงอาร์มหลังใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าเจ้า GSX-R1100 คันนี้เป็นคู่แข่งโดยตรงของ Kawasaki ZZ-R1100 และ Honda CBR900RR Fireblade
1996 Suzuki GSX-R750/GSX-R600
หลังจากที่การแข่งขันสูงเมื่อปี 1995 หลังจาก Honda และ Yamaha ได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า Suzuki ก็ส่งโมเดลใหม่ของ GSX-R750 และ GSX-R600 ลงสู่ตลาด พร้อมด้วยระบบใหม่อย่าง SRAD หรือ Suzuki Ram Air Direct ที่พัฒนามาจากสนามการแข่งขัน ปรับน้ำหนักให้เบากว่าโมเดลก่อนหน้านี้ถึง 20 กิโลกรัม โดยน้ำหนักตัวของเจ้า GSX-R750 นั้นเหลือเพียง 179 กิโลกรัม และมันก็สามารถทวงคืนคืนความเป็นเจ้าตลาดของ Suzuki ได้ในทันที ผนวกกับรุ่นกลางอย่าง GSX-R600 ที่ใช้โครงสร้างเดียวกันแต่เครื่องยนต์ที่เล็กกว่า เพื่อตีตลาดในกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่น้อยกว่า
ยุคหลังปี 2000 เป็นต้นไป!!!
2000 Suzuki GSX-R750
ในปี 2000 ตลาดของรถมอเตอร์ไซค์ในพิกัด 750 มีคู่แข่งน้อยลง เพราะทางคู่แข่งพยายามที่จะพัฒนาโมเดลขนาดที่ใหญ่กว่าป้อนสู่ตลาดทั้ง Honda CBR1000RR Fireblade, Yamaha R1 และ Kawasaki Zx- 12R ทำให้เหลือคู่แข่งที่ไม่มากมากนัก แต่ด้วยมาตรฐานที่สูงของ Suzuki ในยุคนั้นก็ทำให้เจ้า GSX-R750 สามารถยืนหยัดในท้องตลาดได้อย่างสง่างาม ด้วยเครื่องยนต์ใหม่ที่มีระบบ SEAD (Suzuki Ran Air Direct) ที่สามารถสร้างแรงม้าสูงสุดได้ 141 แรงม้า และนำหนักตัวที่เหลือเพียง 166 กิโลกรัม
2001 Duzuki GSX-R600
หนึ่งปีต่อมา Suzuki ได้นำเสนอเจ้า GSX-R600 ที่มีมาตรฐานเดียวกับ GSX-R750 ด้วยระบบและเทคโนโลยีที่เหมือนกัน เพื่อแย่งชิงพื้นที่การตลาดจาก Yamaha R6, Kawasaki ZX-6R ที่วางขายไปก่อน และ Honda CBR600F4i ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ไม่แพ้กับตลาดขนาด 1,000 ซีซี โดยในปี 2003 Honda ก็ได้ปล่อยโมเดล CBR600RR ตัวแข่งที่สามารถสร้างแรงม้าทะลุ 100 ตัวได้ แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะ GSX-R600ในเรื่องยอดขายได้อยู่ดี
2001 Suzuki GSX-R1000
หลังจากหนึ่งปีก่อนหน้านี้ Suzuki ได้ชิงความได้เปรียบในตลาด 750 ซีซี ไปแล้ว ในปี 2001 ทาง Suzuki ก็ขอกระโดดลงในคลาส 1,000 ซีซีบ้าง โดยทาง Honda และ Yamaha ได้ทำการเบิกร่องไปก่อนหน้านี้แล้ว 1 ปี พอรวมกับ Suzuki ก็จะเหลือเพียง Kawasaki ที่ยังคงผลิตเจ้า ZX-9R วางจำหน่ายและข้ามคลาสไปยัง ZX-12R โดยมีช่องว่างระดับ 1,000 ซีซีไว้ โดยทำให้ Suzuki GSX-R1000 ผู้มาทีหลังนั้นสามารถพัฒนาตัวเองและยอดการขายที่เหลือกว่าคู่แข่งที่ลงตลาดไปก่อนหน้านี้ ด้วยขุมกำลังเครื่องยนต์ 998 ซีซี 160 แรงม้า น้ำหนัก 170 กิโลกรัมแบบไม่รวมน้ำมัน มันจึงถูกขนานนามว่าเป็น Superbike ที่ดีที่สุดคันหนึ่งของค่าย Suzuki
2003 Suzuki GSX-R1000
สองปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ทาง Suzuki ก็ได้มีการปรับโฉมใหม่ให้กับเจ้า GSX-R1000 อีกครั้ง โดยการปรับปรุงใหม่ครั้งนี้ มีรูปแบบที่แตกต่างออกไปจาก GSX-R600 อย่างเห็นได้ชัด ด้วยโคร้งสร้างที่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เครื่องยนต์ถูกปรับแต่งใหม่ให้แรงม้าที่สูงขึ้น ที่ 162 แรงม้า และน้ำหนักตัวที่ลดลงเหลือเพียง 168 กิโลกรัม
2004 Suzuki GSX-750/GSX-R600
อัพเกรดอีกครั้งของสองโมเดลในระดับ Super Sport อย่าง GSX-R750 และ GSX-R600 ที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลักใหม่ ที่ช่วยลดน้ำหนักตัวลงเหลือ 163 กิโลกรัม (ไม่รวมน้ำมัน) โดยแรงม้าเพิ่มขึ้นเป็น 145 แรงม้า ในโมเดล GSX-R750 และแรงม้าสูงสุด 125 แรงม้าในโมเดล GSX-R600
2005 Suzuki GSX-R1000
ตำนาน K5 รถมอเตอร์ไซค์ ระดับ Superbike ที่ดีที่สุดตลอดกาลจากค่าย Suzuki คงไม่เกินความจริงสักเท่าไหร่ ด้วยเครื่องยนต์ที่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น 999 ซีซี แรงม้าสูงสุด 170 แรงม้าและน้ำหนักแบบไม่รวมน้ำมันอยู่ที่ 166 กิโลกรัม ซึ่งต้องบอกเลยว่าในปัจจุบันนี้ยังมีคนตามหาเจ้า K5 คันนี้อยู่หลายคนเลยทีเดียว
2006 Suzuki GSX-R750/GSX-R600
ตัวรถถูกอัพเกรดเฟรมใหม่ เครื่องยนต์ใหม่ ระบบท่อไอเสียใหม่ที่มีระยะของท่อที่สั้นลง โดยสามารถทำน้ำหนักตัวได้เท่าเดิม แต่แรงม้าเพิ่มขึ้นเป็น 150 แรงม้า ใน GSX-R750 ส่วน GSX-R600 นั้นสามารถสร้างแรงม้าสูงสุดได้ 125 แรงม้าเท่าเดิมแต่มีน้ำหนักที่เบาขึ้น เหลือเพียง 161 กิโลกรัมเท่านั้น
2007 Suzuki GSX-R100
จากมาตรฐานของเจ้า K5 ที่ทำไว้สูงมาก ทำให้โมเดลใหม่ในปี 2007 กลายเป็นความผิดหวังเล็กๆ ของ Suzuki ไปอย่างไม่น่าเชื่อ ถึงแม้ว่าทาง Suzuki จะสามารถพัฒนาเครื่องยนต์บล็อกใหม่ให้ทำงานควบคู่กับระบบอิเล็กทรอนิกส์ จนสามารถสร้างแรงม้าสูงสุดได้ถึง 185 แรงม้า พร้อมด้วยโหมดการขับขี่ แต่กลับมีขนาดของท่อไอเสียที่ใหญ่เทอะทะ และน้ำหนักที่พุ่งสูงกว่าโมเดลเดิมถึง 6 กิโลกรัม ซึ่งแน่นอนว่ามันถูกเปรียบเทียบกับเจ้า K5 ถึงบุคลลิกของรถในตระกูล GSX-R ที่หายไป
200 Suzuki GSX-R750/GSX-R600
มาตรฐานเหมือนเดิมแต่กลับมีความแรงที่ลดลงไป โดยปีนี้ทาง กรมควบคุมมลพิษมีการเริ่มใช้กฏของการปล่อยไอเสียในรถมอเตอร์ไซค์ ทำให้ทาง Suzuki ไม่มีทางเลือกที่จะต้องตัดทอนพละกำลังสูงสุด เพื่อให้เกิดการปล่อยมลพิษที่น้อยลงจนสามารถผ่านมาตรฐานได้ เช่นเดียวกับ GSX-R600 ที่ถูกกดแรงม้าลงไปเล็กน้อย แต่ได้โครงสร้างตัวรถที่มีขนาดที่เล็กลงและปราดเปรียวมากขึ้น
2009 Suzuki GSX-R1000
ถือว่าเป็นปีที่ยากลำบากอีกหนึ่งปีของ Suzuki เมื่อบรรดาค่ายรถมอเตอร์ไซค์ทั้งจากญี่ปุ่นและยุโรป พร้อมใจกันส่งโมเดลใหม่ เครื่องยนต์ 4 ลูกสูบ ขนาด 1,000 ซีซี ลงตลาดแบบไล่เลี่ยกัน ไม่ว่าจะเป็น Honda Cbr1000RR Fire Blade, Kawasaki Ninja ZX-10R, Yamaha YZF-R1 รวมไปถึงค่ายยุโรปอย่าง BMW S1000RR และ Aprilia RSV4 ซึ่งในปีนั้น Suzuki ได้ใช้เรื่องของชุดเกียร์ใหม่ Stacked Gearbox เป็นจุดเด่นของเจ้า K9 โดยสามารถลดอาการสั่นของตัวรถในจังหวะเปลี่ยนเกียร์ อัตราทดเกียร์ที่กระฉับกว่า ตัวรอบเครื่องยนต์ที่สูงกว่า มันจึงพอจะต้านทานการรุกตลาดของคู่แข่งได้ในระดับหนึ่ง
2011 Suzuki GSX-R750/GSX-R600
ยังคงติดอยู่กับพื้นฐานเครื่องยนต์ของปี 2006 โดยทางค่ายได้เพิ่มพละกำลังสูงสุดให้กับ GSX-R750 ให้มากขึ้นจากเดิมเป็น 148 แรงม้า แต่ก็ต้องถูกชดเชยด้วยน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้นที่ 156 กิโลกรัม โดยมีระยะฐานล้อที่สั้นลง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น และโมเดลนี้เป็นการติดตั้งโหมดการขับขี่เป็นครั้งแรกของรุ่น 750 โดยในรุ่น 600 นั้นก็ได้ใช้โครงสร้างเดียวกันกับตัว 750 แต่ถูกปรับขนาดเครื่องยนต์ให้เหลือเพียง 598 ซีซี และแรงม้าที่เท่าเดิมที่ 125 แรงม้า และก็ยีงไม่มีการพัฒนาต่อเนื่อง จนมีข่าวลือว่าเราจะได้เห็น GSX-R600 โมเดลใหม่ในปี 2019 นี้
2012 Suzuki GSX-R1000
ในปี 2012 ถือว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวอย่างรุนแรง ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อตลาดมอเตอร์ไซค์ด้วย โดยทาง Suzuki เองก็ใช้โอกาสในช่วงที่ตลาดรถมอเตอร์ไซค์ Super Bike ดิ่งลงสู่จุดตำสุดของประวัติศาสตร์ ด้วยการปล่อยโมเดลใหม่พิกัด 1,000 ซีซี ที่ถูกที่สุดในตลาด ถึงแม้จะราคาถูกกว่าคู่แข่ง แต่กลับมีเครื่องยนต์ที่มีสมรรถณะสูงกว่าโมเดลก่อนหน้า ระบบช่วงล่างที่ดีขึ้น ถึงแม้จะถูกที่สุดแต่ก็ไม่ได้หมายความเจ้า GSX-R1000 คันนี้จะเป็นรถที่ดีที่สุดในตลาด ณ ตอนนั้น
2017 Suzuki GSX-R125/R150
การกลับมาอีกครั้งหลังจากหายเงียบไปนานถึง 5 ปี Suzuki กลับมาพร้อมกับการเจาะกลุ่มลูกค้าหน้าใหม่ที่เริ่มให้ความสนใจในรถมอเตอร์ไซค์สปอร์ตฟูลแฟร์ริ่ง ด้วยเครื่องยนต์ขนาดเล็ก 125 ซีซี ในยุโรปที่เอื้อต่อผู้เริ่มต้นที่มีใบอนุญาตขับขี่แบบ A1 และ 150 ในตลาดสากล ทำให้กระแสของค่ายคนบ้ากลับมาอีกครั้ง
2017 Suzuki GSX-R1000
การอัพเดทล่าสุดของ รุ่นใหญ่ในตระกูลอย่างเจ้า R1000 ที่เปลี่ยนแปลงบุคคลิกที่เราคุ้นเคยไปอย่างสิ้นเชิง ตัวเครื่องยนต์เริ่มมีความเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย แต่ความแรงของเจ้าเครื่องยนต์ 4 ลูกสูบเรียงก็ยังคงความก้าวร้าวตามสไคล์ของ GSX ไว้เสริมด้วยระบบ VVT หรือระบบวาล์วแปรผันที่ช่วยให้ตัวรถมีความแรงได้ในทุกๆ ย่านความเร็ว โดยมีโมเดลพิเศษอย่างเจ้า Suzuki GSX-R1000R ที่เป็นตัวท๊อปเพื่อต่อสู้กับค่ายคู่แข่งที่ต่างก็มีรุ่นท๊อปวางจำหน่ายไม่ว่าจะเป็น Honda CBR1000RR Fireblade SP1, Yamaha YZF-R1M, Kawasaki Ninja ZX-10RR ยังไม่รวมค่ายยุโรปที่ส่งโมเดลใหม่มาลงตลาดอย่าง Ducati Panigale V4 ในช่วงปลายปี 2017 ในประเทศไทยอีกด้วย
สำหรับแฟนๆ ของ Suzuki แล้ว ตอนนี้หากจะลุ้นโมเดลใหม่ของตระกูล GSX-R ก็น่าจะมองไปที่ GSX-R600 ซึ่งจากผลทางการตลาดของ Yamaha YZF-R6 เมื่อปีที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่ากลุ่มลูกค้านั้นมีความต้องการรถสปอร์ตฟูลแฟร์ริ่งในระดับ Super Sport ขนาดไหน ยังไม่นับ Kawasaki ที่แว่วๆ มาว่าอาจจะมี ZX-6R ตัวใหม่ออกมาในช่วงท้ายปีนี้อีก เชื่อได้เลยว่าตลาดของระดับ Super Sport 600 จะต้องมีการแข่งขันที่สูงมากๆในปี 2019 อย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.visordown.com
Sakon Supapornopas – Website founder greatbiker.com I like all types of motorcycles. Working in the automotive industry for more than 10 years, in-depth analysis of new motorcycle models. that will be launched in Thailand and abroad Review from actual use experience