เทคนิคการขับขี่แบบกลุ่มให้ปลอดภัย
การออกทริปแบบกลุ่มนั้นเป็นการเดินทางที่มีความน่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการขับขี่รถอย่างเรา แต่ว่าการเดินทางแต่ละครั้งก็มีความเสี่ยง และปัญหาต่างๆ ที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ วันนี้ทางทีมงาน GreatBiker ขอนำเสนอวิธีการที่จะช่วยให้การออกทริปของคุณและเพื่อนๆ ปลอดภัยมากขึ้น จะเป็นอย่างไรติดตามกันได้เลยครับ
ก่อนอื่นลองมาพิจารณากันก่อนว่า การขับขี่แบบกลุ่มนั้นมีความอันตรายกว่าการขับขี่คนเดียวหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ครับ การขับขี่แบบกลุ่มถ้ามีรถเยอะมากเกินไปยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น
แต่นั่นไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะเราเมื่อไปออกทริปกันหลายๆ คน หากเกิดอุบัติเหตุเพื่อนๆ จะสามารถทราบได้ทันทีวาเกิดเหตุบริเวณไหน และที่สำคัญคือทุกๆคนควรจะทราบข้อมูลที่สำคัญๆของกันและกัน เช่น เบอร์โทรติดต่อครอบครัว กรุ๊ปเลือด ยาที่แพ้ ฯลฯ เพื่อใช้สำหรับกรณีฉุกเฉินหากคุณประสบอุบัติเหตุ
ทีนี้หลังจากทราบแล้วว่าการขับขี่แบบกลุ่มก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เราจะทำอย่าไรให้การออกทริปของเราปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
1.เพื่อนร่วมทาง
แน่นอนว่าสิ่งที่เราควรจะต้องคิดก่อนเป็นอันดับแรกเลย เราจะเดินทางกับใคร? ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่จะต้องเป็นเพื่อนที่เรารู้จักอย่างดีหรือบางครั้งก็มีเพื่อนของเพื่อนอีกที แต่ก็สามารถไว้ใจได้และทราบข้อมูลของกันและกันพอสมควร
แต่มันคงเป็นเรื่องที่เสี่ยงพอสมควรหากเราตัดสินใจโพสต์ชักชวนออกทริป แล้วรับคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนมาร่วมทริปเดินทางไกลๆด้วยกัน เพราะนอกจากเรื่องของความไว้ใจแล้ว เราไม่อาจทราบถึงสไตล์การขับขี่ของเขาได้ เช่น ถ้าหาเราไม่ได้เป็นหัวขบวน แต่ต้องมาคอยตามหัวแถวที่ขับขี่เร็วและอันตราย ทำให้เราต้องขี่เร็วและเสี่ยงมากขึ้น อย่างนี้ก็ถือว่าไม่โอเค
แน่นอนว่าบางสถาณการณ์เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะเจอกับคนแปลกหน้า และมิตรภาพสองล้อนั้นมีอยู่จริง ดังนั้นเราก็ไม่ควรปิดกั้นโอกาสของตัวเองที่จะได้รู้จักกับคนใหม่ๆ เพียงแต่ต้องเรารู้จักการเตรียมตัว ก่อนจะออกเดินทางก็ต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนวางแผนกันเพื่อให้ทุกๆ คนรู้จักกันในระดับหนึ่งและสามารถวางตำแหนงขบวนได้อย่างเหมาะสมกับการขับขี่ของแต่ละคน ซึ่งการพูดคุยวางแผนนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากอันตรายลงไปได้ระดับหนึ่ง
2.วางแผนขบวน
สำหรับสไตล์กับขับขี่ของแต่ละคนนั้นจะไม่เหมือนกันกันเสียทั้งหมด ยิ่งเป็นกลุ่มใหญ่ยิ่งมีความหลากหลาย ทั้งสไตล์ และประสบการณ์ ดั้งนั้นแนวคิดที่ถูกต้องของการจัดขบวนคือการลดความเสี่ยง เพิ่มความปลอดภัย และหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็สามารถจัดการได้อย่างรวดเร็ว
โดยเราต้องคำนึงถึงคนที่ขับขี่ไม่เร็วมาก หรือมีประสบการณ์น้อยที่สุดเป็นกลุ่มแรก เพราะนักบิดกลุ่มนี้จะต้องได้รับการควบคุมให้อยู่ในขบวนอย่างปลอดภัย โดยต้องมีการทิ้งพื้นที่ให้พวกเขาได้ขับขี่ในแบบของตัวเอง ดังนั้นตำแหน่งที่ดีที่สุดคือ ช่วงกลางขบวน เพราะถ้าหากวางพวกเขาไว้ต้นขบวนก็จะถูกนักบิดที่มีความเร็ว หรือมีประสบการณ์มากกว่ากดดันจากข้างหลัง ซึ่งนั้นไม่ดีแน่หากพวกเขาถูกกดดันในสถานการณ์ที่เสี่ยงอันตรายอย่างนี้
แต่ก็เช่นกันหากปล่อยให้พวกเขาอยู่ท้ายขบวน โดยให้ทุกคนที่มีความเร็ว มีประสบการณ์มากกว่าอยู่ข้างหน้าหมด พวกเขาก็อาจจะตามไม่ทัน หรือที่แย่ไปกว่านั้นคือเมื่อพวกเขาคนใดคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุหรือมีปัญหา ก็จะไม่มีใครในขบวนรู้ได้ หรืออาจจะต้องใช้เวลานานเพื่อขึ้นไปตามคนที่เหลือกลับมา ดังนั้นคอยดูแลให้พวกเขาอยู่กลางขบวนจะดีที่สุด
3.การขยับแซงในขบวน
หากถามว่าเราแซงปรับตำแหน่งในขบวนได้หรือไม่ คำตอบคือได้ ถ้าหากเส้นทางในตอนนั้นอยู่ในเงื่อนไขที่ดี เช่น ถนนโล่ง ไม่มีรถมากบนถนน ทัศนวิสัยชัดเจน ถนนไม่เป็นอันตรายเช่น มีน้ำขัง เป็นทราย หรือเป็นหลุ่มบ่อ เป็นต้น เพราะสิ่งที่ต้องระวังและทำความเข้าใจกันให้ดีก่อนออกเดินทางคือเรื่องของการเว้นระยะของรถแต่ละคัน ควรจะมีพื้นที่และเวลามากพอที่จะทำให้เพื่อนเห็นว่าเรากำลังต้องการจะแซงขึ้นไป โดยที่คนที่จะถูกแซงนั้นก็ต้องยอมให้ผ่านไปแต่โดยดี และอาจจะเพิ่มเติมด้วยการแสดงสัญลักษณ์ผายมือ หรือชิดซ้ายอีกเล็กน้อยเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ที่ต้องการแซงทราบว่าเราเห็นเขาแล้ว
แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการแซงตัดในโค้งซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมากที่ไม่ควรทำในการเดินทางเป็นขบวน เพราะขณะที่เพื่อนกำลังมีสมาธิกับการเข้าโค้งอยู่ และเราปาดแซงขึ้นไปโดยที่เพื่อนไม่ทันตั้งตัวก็อาจจะทำให้เราหรือเพื่อนประสบอุบัติเหตุได้ ดังนั้นหากต้องการจะแซง ควรแซงในทางตรงเท่านั้น
4.เมื่อเกิดอุบัติเหตุต้องทำอย่างไร?
ก่อนที่จะไปถึงเรื่องเหตุฉุกเฉิน เราต้องตั้งสติและพยายามขับขี่ให้ปลอดภัยที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก อันดับต่อมาต่อมาเราต้องประเมินว่า ต้องระวังใครในกลุ่มที่มีโอกาสจะเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าคนอื่น เช่นนักบิดมือใหม่ที่ยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ หรือนักบิดที่มักจะขับขี่โชว์ลีลาหวาดเสียว ซึ่งแนะนำว่าคนแบบหลังนี้ ก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วงกว่าแบบแรก ดังนั้นเมื่อเราประเมินได้แล้วว่าใครมีทักษะประสบการณ์แบบไหนเราก็จะสามารถระวังได้มากขึ้นเมื่อเจอเขาในขบวน
พอการเดินทางผ่านไปได้ด้วยดี ก็ถือว่าดีไป แต่ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น มีบางคนล้ม หรือชนกันเอง และเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นตรงหน้า หรือหลังเรา เราควรจะทำอย่างไร? อันดับแรกเราต้องเตือนคนที่เหลือให้ทราบก่อนว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นด้วยการเปิดไฟฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน ต่อมาเมื่อเราเปิดไฟฉุกเฉินแล้วและประเมินสถานการณ์แล้วว่าเราสามารถจอดรถเพื่อไปดูอาการคนบาดเจ็บได้หรือไม่? ถ้าเราสามารถจอดได้เราต้องจอดรถพร้อมกับเปิดไฟฉุกเฉินเอาไว้เพื่อให้คนที่ผ่านมาเห็นจุดเกิดเหตุและระวังได้ทันเวลา
ต่อมาเมื่อเรามาถึงตัวผู้บาดเจ็บแล้ว ถ้าในกรณีที่ไม่ใช่อุบัติเหตุร้ายแรง เช่น ล้มถลอก ข้อเท้าข้อมือพลิก รถเสีย ฯลฯ เราก็สามารถช่วยเหลือทั่วไปได้ตามแต่เหตุสมควร แต่ถ้าในกรณีที่เป็นอุบัติเหตุร้ายแรง และเขามีสติอยู่ เราก็ต้องพยามพูดคุยสอบถามอาการเพื่อเก็บข้อมูล แต่ถ้าหากผู้ประสบอุบัติเหตุหมดสติไป ก็อย่าเพิ่งไปขยับหรือทำอะไรโดยไม่ระวังเพราะอาจจะทำให้เขาบาดมากขึ้นก็เป็นได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำมีอยู่สองอย่าง คือ
1.โทรติดต่อเจ้าหน้าที่หรือหน่วยฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยเราต้องช่วยให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ด้วยข้อมูลส่วนตัวของผู้บาดเจ็บดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น รวมกับอาการบาดเจ็บจากที่สอบถามมาหรือหรือจากการประเมินด้วยสายตาของเราถ้าเขาหมดสติ และรอความช่วยเหลือหรือทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในสาย
2.ให้ติดต่อทุกคนในขบวนให้หยุดการเดินทางและรอความช่วยเหลือ อย่าปฐมพยาบาลโดยไม่จำเป็น ถ้าหากไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง
เทคนิค Second Man Drop
วิธีนี้เป็นเทคนิคเล็กๆน้อยๆที่มีประโยชน์ เหมาะกับสถาการณ์ทออกทริปทางไกล ไปในที่ที่ไม่ค่อยมีรถสัญจรมากนัก และมีรถหลายคันในขบวน
วิธีการก็คือ
-เมื่อคนแรกที่นำขบวนมาถึงทางแยก และตัดสินใจเลี้ยวออกไปทางใดทางหนึ่ง
-คนที่สองจะต้องหยุดรถและเบี่ยงออกมาจอดรอตรงทางแยก เพื่อชี้ให้คนถัดๆไปเลี้ยวไปตามคนแรกได้ถูกต้อง
-คนที่สองจะจอดรอชี้ทางจนคนสุดท้ายของขบวนผ่านไป และตัวเองก็ถึงจะตามไปต่อท้ายขบวนอีกครั้ง
ซึ่งวิธีนี้จะช่วยไม่ให้ขบวนคลาดกันตรงทางแยกเพราะเกิดจากความสับสนว่ารถคันหน้าของเราเลี้ยวไปทางไหน เพราะมีคนบอกทิศทางรออยู่จนถึงคนสุดท้าย ซึ่งวิธีนี้ก็ดูเท่ห์ไม่หยอก แต่คนจอดก็ต้องระวังนะครับ ว่าตัวเองจะอยู่ในตำแหน่งที่เพื่อนมองเห็นชัดเจนหรือไม่
ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพประกอบจาก www.visordown.com