สิทธิบัตรใหม่จาก Kawasaki ส่งสารท้ารบกับ Yamaha Niken
ดูเหมือนว่า Kawasaki จะกลายเป็นอีกแบรนด์ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์จากประเทศญี่ปุ่น ที่กระโดดลงมาแจมในกลุ่มตลาดรถเฉพาะอย่างเจ้ารถมอเตอร์ไซค์สามล้อ ที่ก่อนหน้านี้มีแบรนด์ Piaggio จากประเทศอิตาลีเป็นผู้นำและแถวหน้าในแวดวงสามล้อ จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา Yamaha ได้ส่ง Tricity 125 ลงสู่ตลาดและกลายเป็นอีกหนึ่ง Segment รถมอเตอร์ไซค์ที่น่าจับตามอง
Yamaha Niken
หากจะพูดถึงขนาดของตลาดรถมอเตอร์ไซค์สามล้อแล้ว ตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคงไม่พ้นทวีปยุโรป โดยมีสองแบรนด์ที่เดินหน้าการทำตลาดอย่างจริงจังกับแนวทางนี้ประกอบไปด้วย Piaggio แบรนด์ผู้ผลิตสัญชาติอิตาเลี่ยนที่เน้นหนักไปที่กลุ่มตลาดรถมอเตอร์ไซค์สามล้อขนาดเล็กเป็นหลัก และมี Can Am แบรนด์ผู้ผลิตจากประเทศแคนนาดาที่เจาะกลุ่มตลาด Luxury เป็นหลัก แต่ในช่วง 4-5 ปีก่อนหน้านี้ Yamaha กลายเป็นแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาแจมกลุ่มตลาดนี้ด้วยการเปิดโมเดล Tricity 125 ไล่เรียงมาจนถึงโมเดลล่าสุดอย่าง Niken ที่มีการเลือกใช้งานเครื่องยนต์ CP3 เรียกได้ว่าเจาะเข้าถึงกลุ่มเครื่องยนต์ความจุขนาดเล็กไล่ไปจนถึงขนาดใหญ่ และปัจจัยที่ทำให้ Yamaha ได้เปรียบคู่แข่งมากที่สุดก็คือเรื่องของราคา ถึงแม้ว่าหากเทียบกับกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์ในคลาสเดียวกันแล้ว Segment สามล้อของ Yamaha จะมีราคาสูงกว่าใครเพื่อน แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งแล้วราคานั้นมีความแตกต่างกันอยู่หลายช่วงตัวเลยทีเดียว
เอกสารสำหรับการยื่นจดสิทธิบัตรของ Kawasaki
ล่าสุด Kawasaki กำลังเดินหน้าในการพัฒนาโมเดลสามล้อกับเค้าบ้าง โดยมีการเปิดเผยข้อมูลเอกสารในการยื่นจดสิทธิบัตรใหม่ ด้วยระบบควบคุมล้อหน้าคู่ที่มีความแตกต่างกับของ Piaggio และ Yamaha ซึ่งทั้งสองแบรนด์นั้นจะใช้ระบบกันสะเทือนหน้าแบบคู่แยกซ้ายขวาอิสระ แต่ทาง Kawasaki จะใช้ระบบโช้คอัพหน้าแบบ Monoshock แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งรูปแบบจากภาพประกอบสำหรับยื่นขอสิทธิในครั้งนี้ ตัวรถนั้นดูเหมือนจะมีขนาดเล็กกว่า และมีท่าทางการนั่งขับขี่ที่กระเดียดไปในเชิงของรถสปอร์ตมากกว่า
เอกสารสำหรับการยื่นจดสิทธิบัตรของ Kawasaki
มาดูกันที่ระบบการควบคุมพวงมาลัย (แฮนด์บาร์) ไม่ได้มีส่วนที่เชื่อมต่อกับระบบกันสะเทือนหน้าโดยตรง แต่มีการนำเอากล่องที่มีลักษณะคล้ายกับ Hub Steering หรือกล่องควบคุมมาขั้นกลางระหว่างล้อหน้าคู่ไว้ โดยตามหลักแล้วการที่เลือกใช้งาน โช้คอัพหน้าแบบเดี่ยวแบบนี้ ล้อหน้าแบบคู่นั้นคงไม่มีทางที่จะเอียงตัวได้เหมือนกับ Yamaha Niken อย่างแน่นอน และการติดตั้งกล่อง Hub Steering ไว้ด้านหน้าแบบนี้นั้นก็แสดงว่าระบบการหักเลี้ยวของล้อหน้าคู่นั้น น่าจะมีการทำงานคล้ายๆ กับระบบการหักเลี้ยวของ Can Am Spider นั่นเอง
Can Am Spider
จะว่าไปแล้วหากเราย้อนกลับไปในปี 2015 Kawasaki เองก็ได้นำเสนอรถมอเตอร์ไซค์แนวคิดอย่างเจ้า Cincept J ที่เป็นรถมอเตอร์ไซค์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้ตามรูปแบบและโหมดการขับขี่ ซึ่งเจ้า Cincept J นั้นก็ใช้ระบบล้อหน้าคู่เหมือนกัน แต่จากการเทียบกับสิทธิบัตรที่ทางผู้ผลิตของยื่นจดในครั้งนี้ ก็ต้องบอกเลยว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่มีเคล้าโคลงเดิมของเจ้า Concept J หรือส่งใดส่วนหนึ่งที่เหมือนกันเลยแม้แต่น้อย ซึ่งนี้อาจจะเป็นไปได้ว่า แผนการของ Concept J นั้นอาจจะไม่ถูกหยิบมาพัฒนาต่อก็เป็นไปได้
2015 Kawasaki Cincept J
การยื่นจดสิทธิบัตรในครั้งนี้อาจจะไม่ได้การันตีว่าทาง Kawasaki นั้นจะสร้างโมเดลนี้ออกมาอย่างชัดเจน เพราะจากที่ผ่านๆ มาเอกสารการจดสิทธิบัตรหลายๆ ตัวก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่มีการผลิตออกมาอย่างจริงๆ จังๆ แต่อย่างใด อาจจะเป็นการยื่นจดเพื่อครอบครองสิทธิ์ไว้ก่อนจะทำหรือไม่เอาไว้ว่ากันอีกที แต่ถ้า Kawasaki นั้นคิดจะสร้างโมเดลนี้ขึ้นมาอย่างที่แหวกทุกแนวความคิดมาแล้ว ก็จะกลายเป็นคู่แข่งอีกหนึ่งคนที่น่ากลัวและน่าติดตามไม่น้อยเลยทีเดียว
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก tmcblog.com
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.