เจาะลึก All New Honda CBR1000RR-R SP กับ All New Yamaha YZF-R1M ใครจะเฟี้ยวกว่ากัน?!!!
ถือว่าเป็น 2 สุดยอดรถมอเตอร์ไซค์ซุปเปอร์ไบค์แห่งปีจากทางญี่ปุ่น ทั้ง All New Honda CBR1000RR-R SP และ All New Yamaha YZF-R1M ที่ต่างก็สร้างกระแสแรงเอามากๆ กับแฟนๆ แนวเรซซิ่งในตอนนี้ โดยเพื่อนๆ บางคนอาจจะยังมีคำถามหรือลังเลกันบ้างกับทั้ง 2 รุ่นนี้ว่าคันไหนจะเด็ดกว่ากัน เรามีบทวิเคราะห์เจาะลึกสเปคในส่วนต่างๆ มาฝากเพื่อนๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจกันครับ
รูปโฉมภายนอก
ต้องบอกก่อนเลยว่าทั้งสองคันนั้นเป็นรถสปอร์ตรุ่นใหม่ที่มีการปรับปรุงทั้งสองรุ่น โดยความแตกต่างนั้น Honda CBR1000RR-R SP เปิดตัวให้หลัง Yamaha YZF-R1M เพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่ความแปลกใหม่ของ Honda นั้นมีสูงกว่า เพราะเป็นการเปลี่ยนโฉมชนิดที่เรียกได้ว่าหัวจรดเท้า ส่วนของ Yamaha นั้นจะเป็นการ Redesign จากโมเดลเดิมที่ยังคงกลิ่นอายของรถในตระกูล R-Series ของทางค่ายไว้ ซึ่งทั้งสองรุ่นนั้นก็อ้างอิงการออกแบบมาจากรถแข่งในสนามระดับ MotoGP อย่าง Honda RC213V และ Yamaha YZR-M1 ความสวยงามจึงดูไปในทำนองที่ใกล้เคียงกัน ขึ้นอยู่กับรสนิยมของผู้ขี่ว่าจะชอบดุดันมีเหลี่ยมมีสัน ก้าวร้าวแบบ CBR1000RR-R SP หรือว่าจะชอบความโค้งมนดูปราดเปรียวของ YZF-R1M
ประสิทธิภาพเครื่องยนต์
ในส่วนของขุมกำลังหลักนั้น Yamaha ได้ทำการปรับเปลี่ยนเครื่องในของเจ้า R1M ใหม่ โดยอิงจากมาตรฐาน Euro5 โดยเครื่องยนต์ขนาด 998 ซีซี 4 ลูกสูบเรียง 4 จังหวะแบบ DOHC ระบายความร้อนด้วยน้ำ ที่ได้เปลี่ยนตำแหน่งหัวฉีดใหม่ หัวฉีดใหม่ หัวลูกสูบใหม่ กระเดื่องกดวาล์ว รวมไปถึง camshaft profiles ใหม่ และการเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างจากรุ่นปกติทำให้ R1M นั้นมีน้ำหนักเครื่องยนต์ที่เบากว่า และยังมีประสิทธิภาพที่สูงกว่าในรุ่นปกติ โดยสามารถสร้างพละกำลังสูงสุดได้ 200 แรงม้า (PS) ที่ 13,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 113.3 นิวตันเมตรที่ 11,500 รอบต่อนาที
ในส่วนของ Honda CBR1000RR-R SP นอกจากจะมีการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกใหม่แล้ว เครื่องยนต์กันยังเป็นลูกใหม่ ด้วยพื้นฐานเครื่องยนต์ขนาด 999.9 ซีซี 4 ลูกสูบเรียง 4 จัวหวะ แบบ DOHC ระบายความร้อนด้วยน้ำ โดยใช้หลักการของเครื่องยนต์ RC213V-S เวอร์ชั่นถนนสำหรับ RC213V รถแข่งในรายการ MotoGP โดยใช้ขนาดของกระบอกสูบและช่วงชักที่เท่ากัน 81 x 48.5 มิลลิเมตร ปรับขนาดเครืองยนต์ให้มีขนาดที่เล็กกว่าเดิมจนสามารถสร้างพละกำลังสูงสุดได้ถึง 217 แรงม้า (PS) ที่ 14,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 113 นิวตันเมตรที่ 12,500 รอบต่อนาที
ระบบอิเล็กทรอนิกส์
มาดูกันที่ Honda CBR1000RR-R SP กันก่อน โดยที่ตัวรถนั้นจะมาพร้อมกับคันเร่งไฟฟ้า Throttle by Wire รูปแบบเดียวกับที่อยู่ใน RC213V-S ที่สามารถตอบสนองต่อน้ำหนักในการบิด และมีระยะเวลาหน่วงในการตอบสนองที่น้อยกว่าคันเร่งไฟฟ้าในโมเดลเก่า มีการติดตั้งแกน IMU แบบ 6 แกนเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานของระบบต่างๆ โดยทำให้โหมดในการขับขี่แต่ล่ะรูปแบบนั้นสามารถปรับค่ารายละเอียดย่อยๆ อย่างระบบส่งกำลัง (Power Mode) ที่สามารถปรับค่าได้ตั้งแต่ 1-5 ระดับ Engine Brake 3 ระดับ Throttle Control 3 ระดับ Wheelie 3 ระดับ รวมไปถึง Honda Selectable Torque Control (HSTC) หรือที่เราคุ้นเคยกับชื่อ Traction Control ที่สามารถเปิด ปิด การทำงาน และยังปรับค่าได้อย่างอิสระถึง 9 ระดับ นอกจากนี้ Honda ยังใส่ Start Mode ที่เป็นของเล่นใหม่สำหรับสายแข่ง ที่จะเป็นการตั้งค่าการเดินเบาของเครื่องยนต์ โดยสามารถตั้งรอบเครื่องยนต์ในจังหวะสตาร์ทเครื่องให้วิ่งไปที่ 6,000 7,000 8,000 หรือ 9,000 รอบได้ในทันที
ในส่วนของ Yamaha YZF-R1M เองก็มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าสนใจไม่น้อย โดยโมเดลในปี 2020 ทางผู้ผลิตได้เพิ่มลูกเล่นใหม่ๆ อย่าง Brake Control 2 ระดับ Engine Brake Management 3 ระดับ คันเร่งไฟฟ้า APSG Ride-by-Wire (YCC-T) รุ่นใหม่ และสามารถติดตั้ง Apps พิเศษบนสมาร์ทโฟนเพื่อทำการเชื่อมต่อกับตัวรถ และสามารถถ่ายโอนข้อมูลการขับขี่ รวมไปถึงการปรับแต่งในส่วนของระบบสมองกลต่างๆ เปรียบสเมือนกับเราทำงานของทีมช่างในสนามแข่ง และยังคงมีการติดตั้งแกน IMU แบบ 6 แกน พร้อมด้วย Gyro/G sensors บนตัวรถเพื่อการทำงานของระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Power Delivery Modes (PWR), Banking sensitive Traction Control (TCS), Slide Control (SCS), Front Lift Control (LIF), Launch Control System (LCS)
โครงสร้าง ช่วงล่าง และเบรก
2020 Yamaha YZF-R1M และ 2020 Honda CBR1000RR-R SP มาพร้อมกับโครงสร้างแบบ Diamond Frame โดยใน CBR1000RR-R SP นั้นจะมีการปรับระยะของสวิงอาร์มใหม่จากเดิมที่ยาว 24.5 นิ้ว ให้กลายเป็น 30.5 นิ้ว เพิ่มการรับแรงตามแนวนอนได้มากขึ้น 15% โดยที่ความแตกต่างกันนั้นจะอยู่ที่ระบบช่วงล่าง โดย R1M จะใช้นวัตกรรมของ Öhlins Electronic Racing Suspension (ERS) โช้คอัพหน้าแบบหัวกลับ ปรับโหมดด้วยระบบไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุด โดยที่ CBR1000RR-R SP นั้นจะมาพร้อมกับโช้คอัพหน้าหัวกลับของ Ohlins รุ่น NPX S-EC แบบ Semi-Active แต่จะเสริมด้วยระบบกันสะบัดไฟฟ้าที่สามารถปรับค่าการทำงานได้แม้ในขณะขับขี่ ส่วนของระบบกันสะเทือนหลังนั้น R1-M มาพร้อมกับโช้คอัพหลังเดี่ยวไฟฟ้าของ Ohlins ปรับค่าได้ผ่านหน้าจอแสดงผลบนตัวรถหรือ Apps ในสมาร์ทโฟน ในส่วนของ CBR1000RR-R SP นั้นจะเป็นแบบ TTX36 S-EC จากแบรนด์ Ohlins
ในส่วนของระบบเบรกนั้น Yamaha ได้เพิ่มลูกเล่นใหม่ เหมือนที่เราได้บอกไปในส่วนของระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้นก็คือระบบ Brake Control ที่สามารถปรับเปลี่ยนน้ำหนักการทำงานของปั้มเบรกได้ 2 ระดับ โดยที่ระบบนี้จะมีส่วนในการทำงานร่วมกับระบบ ABS ร่วมกับแกน IMU ที่จะช่วยในการคำนวนองศา น้ำหนักที่กดก้านเบรกให้สัมพันธ์กัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เชนเซอร์นั้นจับได้ว่าตัวรถมีการเอียงตัว เปรียบได้เหมือนกับระบบ Cornering ABS แบบกร่ายๆ ในส่วนของ CBR1000RR-R SP ก็ไม่น้อยหย้าไปกว่ากัน โดยได้เลือกใช้งานปั้มเบรกรุ่นใหม่ล่าสุด Brembo Stylema radial-mount brake calipers ขนาด 4 พอร์ท โดยที่ปั้มเบรกบนและสายส่งกำลังก็ยกชุดจาก Brembo ด้วยเช่นกัน โดยที่ระบบเบรกหลังนั้น จะเป็นเบรก brembo แบบเดียวกับที่อยู่ใน Honda RC213V-S อีกด้วย
ด้านอื่นๆ
Honda CBR1000RR-R SP และ Yamaha YZF-R1M นั้นมาพร้อมกับระบบ Quickshifter ที่สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้ทั้งเพิ่มและลดเกียร์แบบไม่ต้องกำคลัทซ์ ส่วนเรื่องของถังน้ำมันนั้น R1M มาพร้อมกับจุขนาด 17 ลิตร ส่วน CBR1000RR-R SP นั้นจะมาในความจุ 16.1 ลิตร ในส่วนของเรื่องน้ำหนักตัวนั้น R1M มีน้ำหนักตัวรถของเหลวแล้วอยู่ที่ 202 กิโลกรัม และ CBR1000RR-R SP จะมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 201.3 กิโลกรัม รวมของเหลว
บทสรุปของ 2020 Honda CBR1000RR-R SP VS 2020 Yamaha YZF-R1M
บอกตามตรงว่ามาถึงตรงนี้ก็ยังไม่สามารถตัดสินได้วาใครเหนือกว่าใคร เพราะในแต่ล่ะส่วนนั้นทั้งสองโมเดลต่างมีจุดเด่น จุดสังเกตที่แตกต่างกันออกไป และอีกอย่างที่สำคัญคือในฐานะของผู้เปรียบเทียบแล้วคงไม่สามารถพิจารณาตัวรถได้ทันทีหลังจากการอ่อนข้อมูลในเชิงเทคนิคเท่านั้น ท้ายที่สุดคงต้องนำเอาทั้งสองโมเดลนั้นมาขับขี่ ทดสอบกันถึงจะสามารถบอกได้มากกว่านี้ เชื่อได้ว่าในปี 2020 นี้ ทั้งสองโมเดลจะกลายเป็นโมเดลที่มีการต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง ทั้งในเรื่องของการตลาดและในเรื่องของผลการแข่งขัน เพราะทั้งสองโมเดลถูกส่งเข้าไปเป็นรถแข่งประจำทีมโรงงานของการแข่งขัน WorldSBK 2020 เป็นที่เรียบร้อย และเชื่อว่า GreatBiker นั้นก็น่าจะได้มีโอกาสในการทดสอบขับขี่เจ้าสองโมเดลนี้ในอนาคต แล้วเมื่อถึงเวลานั้นเราคงจะสามารถบอกได้ว่าคันไหนเป็นอย่างไรในการขับขี่จริง
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.totalmotorcycle.com www.yamaha-motor.eu www.honda.co.uk
Sakon Supapornopas – Website founder greatbiker.com I like all types of motorcycles. Working in the automotive industry for more than 10 years, in-depth analysis of new motorcycle models. that will be launched in Thailand and abroad Review from actual use experience