เทคนิคการใช้เบรกหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างที่ทราบกันดีว่า การหยุดหรือชะลอรถมอเตอร์ไซค์นั้นมีระบบในการเบรก 3 รูปแบบ โดยแบ่งออกเป็น เบรก หน้า เบรกหลัง และ Engine Brake ซึ่งในบทความนี้เราจะมาแนะนำเพื่อนๆ ทั้งมือใหม่และมือเก๋าในการใช้งานเบรกหน้าอย่างมีประสิทธิภาพกันครับ
ทำความเข้าใจระบบเบรก
อย่างที่เกริ่นไประบบเบรกในรถมอเตอร์ไซค์นั้นจะถูกแบ่งออกเป็นสามรูปแบบหลักๆ โดยรูปแบบของการเบรกแต่ล่ะรูปแบบนั้นก็ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่นหากเราต้องการชะลอความเร็วจากสูงลงมาต่ำในช่วงระยะเวลาที่สั้น การใช้งานเบรกทั้งสามรูปแบบมีความจำเป็นอย่างมาก โดยจะต้องกระจายน้ำหนักในแต่ล่ะส่วนอย่างไม่เท่ากัน แบ่งออกเป็น เบรกหน้า 60 % เบรกหลังอีก 20% และ Engine Brake อีก 20% ซึ่งโดยปกติรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนแบบเกียร์ธรรมดา ไม่ว่าจะมีคลัทซ์หรือไม่มีคลัทซ์มือก็ตาม หากเรายกคันเร่งขึ้นจะเป็นการเปิดการใช้งานระบบเบรกแบบ Engine Brake แบบอัตโนมัติ โดยอาศัยแรงเฉื่อยของรอบเครื่องยนต์ที่ลดลงจากการยกคันเร่ง แต่เราสามารถเพิ่มปริมาณ Engine Brake ได้ด้วยการปรับลดเกียร์ ให้เกิดการกระชากของรอบเครื่องยนต์จากรอบที่ต่ำให้สูงขึ้นชั่วคราว แต่จะมีข้อเสีย หากตัวรถไม่มีระบบ Slipper Clutch แรงตึงจากการลดระดับเครื่องยนต์โดยฉับพลันจะส่งผลให้เกิดอาการตึงที่โซ่จนอาจจะทำให้สูญเสียการควบคุมได้หากผู้ขับขี่ไม่ได้เตรียมพร้อมในการรับแรงตึง
ส่วนล้อหลังแบบ 20% นั้นจะมีแรงจากการใช้งานระบบ Engine Brake เป็นตัวช่วยในการชะลอความเร็วอยู่แล้ว และที่สำคัญหากเราให้น้ำหนักในการเบรกในส่วนหลังที่มากเกินไป บวกกับแรงจาก Engine Brake แล้วตัวล็อกจะเกิดอาการล็อกและสะบัดจากแรงที่สะสมมากเกินไป จนเกิดอาการปัดถึงแม้ว่าจะมีระบบ ABS เข้าช่วยเหลือ แต่การทำงานของระบบ ABS จะเป็นการสั่งการให้คาลิปเปอร์เบรกทำการจับกับจานเบรก แล้วปล่อยเป็นระยะๆ เพื่อลดอาการล้อล็อก แต่ไม่ได้หมายความว่าล้อจะไม่มีอาการล็อกแต่อย่างใด โดยส่วนมากแล้วระบบเบรกหลังจะเป็นส่วนในการประคองและสร้างจุดศูนย์ถ่วงที่เหมาะสมในการเบรกเสียมากกว่าการบังคับให้ล้อหยุดหมุน
กลับมาที่การใช้งานเบรกหน้า 60% ก็เพราะ ตามหลักการแล้ว เบรกหน้าจะเป็นส่วนที่มีการหมุนจากแรงขับจากล้อหลัง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มหรือลดความเร็ว ดังนั้นการให้น้ำหนักกับเบรกหน้าในปริมาณที่มาก ก็เพื่อเป็นการชะลอและหยุดวงล้อที่หมุนไปโดยไม่มีแรงจากส่วนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เหมือนกับระบบเบรกหลังที่มี Engine Brake ที่ได้จากระบบส่งกำลังสุดท้ายเข้าช่วย ดังนั้นหากเราต้องการเบรกรถให้ได้ระยะตามที่ต้องการ การให้น้ำหนักกับเบรกหน้าจึงเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุด
เริ่มต้นใช้งานเบรกหน้า
สำหรับมือใหม่แล้ว การกำก้านเบรกหน้านั้น การวางตำแหน่งของมือก็เป็นส่วนสำคัญ เราไม่ควรวางมือในตำแหน่งที่ลึกหรือตื้นจะเกินไป นิ้วทั้งสี่ (ชี้, กลาง, นางและก้อย) ควรอยู่บนก้านเบรกทั้งสี่นิ้ว ส่วนนิ้วโป้งจะยังคงสอดอยู่ใต้คันเร่ง โดยการไล่น้ำหนักจะเริ่มจากนิ้วชี้ไล่ออกมาถึงนิ้วก้อย เพื่อให้ได้ระดับของน้ำหนักมือที่เหมาะสม และง่ายต่อการควบคุม ตำแหน่งของแขนและข้อมือ จะต้องอยู่ในองศาที่เกือบตรง ไม่เหยียดแขนตรงจนตึง แต่ก็ไม่หย่อนข้อศอก น้ำหนักตัวของผู้ขับขี่จะถูกถ่ายเทไปด้านหน้าของตัวรถ เพื่อกดน้ำหนักให้ล้อหน้าติดอยู่กับพื้นเสมอ สายตามองตรงไปยังจุดที่เราต้องการหยุด และตัวรถจำเป็นต้องอยู่ในแนวตั้งฉากกับพื้นเสมอ
ในส่วนของมือเก๋า หรือผู้ที่เคยเห็นบรรดานักแข่งใช้งานเบรกหน้าด้วยนิ้วเพียงสองนิ้วนั้น มีความจำเป็นบางอย่างที่ผู้ใช้งานเบรกแบบสองนิ้ว ต้องผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี โดยการใช้งานเบรกแบบสองนิ้วนั้นจะต้องมีความชำนาญในการให้น้ำหนักในการกำก้านเบรก เพราะถ้าเราให้น้ำหนักที่น้อยเกินไป ตัวรถก็ไม่สามารถหยุดได้ แต่ถ้ามากเกินไป ก็อาจจะเกิดอาการล้อหน้าล็อกได้เช่นเดียวกัน การใช้งานเบรกแบบสองนิ้วนั้นจะใช้งานนิ้วชี้และนิ้วกลางเป็นหลัก ส่วนนิ้วที่เหลือจะเป็นส่วนช่วยนิ้วโป้งที่อยู่ใต้คันเร่งในการประคองแฮนด์รถ
บทสรุป
ตามหลักสูตรของโรงเรียนสอนขี่มอเตอร์ไซค์ทั่วๆไปนั้น การใช้งานระบบเบรกหน้าจะต้องใช้นิ้วทั้งสี่นิ้วในการเบรก แต่สำหรับโรงเรียนสอนการขับขี่เพื่อการแข่งขันจะนิยมสอนการใช้งานเบรกแบบสองนิ้ว เพราะการใช้งานชีวิตประจำวันนั้นการขับขี่บนท้องถนนจะเป็นรูปแบบของการสัญจรทั่วๆไป มีการใช้งานถนนร่วมกับผู้อื่น และอาจจะมีการใช้เส้นทางที่ทับซ้อนกันบนเส้นทางเดียว ดังนั้นการใช้งานเบรกแบบสี่นิ้วจึงจะให้ประสิทธิภาพในการเบรกที่สูงที่สุด แตกต่างจากการแข่งขัน ที่ถึงแม้จะมีคนที่ใช้งานในพื้นที่เดียวกัน แต่ทุกคนมุ่งหน้าไปยังทิศทางเดียวกัน ไม่มีส่วนทางไม่มีการแยกเพื่อเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา เหมือนกับการใช้งานบนท้องถนนทั่วไป และการใช้งานเบรกแบบสี่นิ้วนั้นอาจจะลดทอนความเร็วจากการใช้งานรถแข่งจนมากเกินไปอีกด้วย
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.