เทคนิคการเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่มอเตอร์ไซค์หน้าฝน
ในบรรดานักขี่มอเตอร์ไซค์หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า “ไบค์เกอร์” นั้นส่วนมากมักจะไม่ชอบฝนหรือสภาพถนนเปียกสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับถนนในบ้านเราที่มักจะมีน้ำขัง จากหลุมและบ่อที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้ “ไบค์เกอร์” หลายๆ คนสูญเสียความมั่นใจในการขับขี่ และเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดกับอุบัติเหตุที่หลายๆ คนไม่คาดฝัน ในบทความนี้เราจะขอพาเพื่อนๆ ไปเช็กความพร้อมก่อนการรับมือกับสภาพการเดินทางที่เราอาจจะต้องเจอกันครับ
สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ยาง” และ “สภาพถนน”
“ยาง” เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ยึดระหว่างตัวรถกับพื้นผิวถนน ดังนั้น “ยาง” จึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการรับมือสภาพถนนที่ผิดปกติ ดังนั้นการใส่ใจในคุณภาพ ความพร้อมของยาง ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก การตรวจเช็กความดันในยางเป็นประจำเป็นสิ่งที่ควรทำ และการตรวจความพร้อมของยาง ว่าเนื้อยางเริ่มแข็งหรือยัง ขอบยางเริ่มหมดสภาพหรือไม่ ก็มีความจำเป็นไม่ต่างกัน ในส่วนที่สำคัญต่อมาก็คือสภาพของถนน โดยทั่วไปแล้วค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานของพื้นผิวถนนในประเทศไทยนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 0.5-0.7 โดยที่ค่านี้จะเป็นค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานสำหรับถนนแห้ง แต่เมื่อเกิดฝนตก หรือมีความชื้นจากของเหลว ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานจะลดลงเหลือ 0.2-0.4 ซึ่งเป็นการลดทอนการยึดเกาะของพื้นผิวแบบครึ่งต่อครึ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถขับขี่บนสภาพถนนเปียกได้ แต่สิ่งที่เราควรทำก็คือ ลดความเร็วลงเพื่อให้ร่างกายเตรียมความพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
การใช้เบรกที่ถูกวิธี
แน่นอนว่าการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์นั้นการใช้งานเบรก มีด้วยกันสามรูปแบบ 1.เบรกหน้า 2.เบรกหลัง 3.Engine เบรกหรือการเบรกด้วยแรงฉุดของเครื่องยนต์ โดยส่วนใหญ่แล้วการให้น้ำหนักของการใช้เบรกนั้นจะเทไปที่การใช้เบรกหน้าเป็นหลัก เพราะการใช้เบรกหน้านั้นจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมที่สูงกว่า โดยการจำลองเหตุการณ์การเบรกนั้น เราจะทำการยกคันเร่งจากมือขวาโดยอัตโนมัติเพื่อกำเบรกหน้า คงไม่มีใครที่จะบิดคันเร่งพร้อมกับกำเบรกหน้าได้ และเมื่อเรากำเบรกหน้าแล้ว จากคันเร่งที่ถูกปิดการทำงานอัตโนมัตินั้นจะทำให้เครื่องยนต์เกิดรอบการหมุนที่ต่ำลง ในกรณีของรถไม่มีคลัทซ์นั้นก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่สำหรับรถที่มีระบบคลัทซ์แบบปกตินั้น การบีบคลัทซ์พร้อมกับการเบรกนั้นจะทำให้เครื่องยนต์เกิดการหมุนฟรี โดยไม่สร้างแรงฉุด ทำให้เป็นการปิดการทำงานของ “Engine เบรก” และทำให้ระยะในการหยุดรถของเรานั้นเพิ่มขึ้น ส่วนเบรกหลังนั้นใช้เพื่อการชะลอและทรงตัวเท่านั้น การใช้เพื่อหยุดรถนั้นก็ทำได้ แต่ระยะในการหยุดก็จะยาวจนเกินไป ดังนั้นการใช้เบรกหน้าเป็นหลักจึงเป็นหลักการทั่วไปของการขี่มอเตอร์ไซค์
แล้วการเบรกในสภาพถนนเปียกล่ะควรทำอย่างไร
ไม่แตกต่างจากการใช้งานเบรกบนถนนแห้งสักเท่าไหร่ โดยเรายังคงเน้นการใช้เบรกหน้า ไม่ว่าจะเป็นรถที่มีระบบ ABS หรือไม่มี การเบรกด้วยเบรกหน้านั้น การวางตำแหน่งของล้อให้ไปในทิศทางที่ตรง การบังคับแฮนด์จะต้องยึดแขนตรงแต่ไม่ตึง กดน้ำหนักลงไปยังแฮนด์ทั้งสองข้าง และอย่างพยายามหักหลบและกำเบรกไปด้วย เพราะต่อให้มี ABS การทำงานของระบบก็จะยังจับจานเบรกแล้วคลายออกเป็นระยะๆ เมื่อองศาของล้อไม่อยู่ในทิศทางตรง เมื่อจานเบรกมีการจับโดยคาลิปเปอร์จะเกิดอาการล็อก จนเป็นที่มาของอาการหน้าพับจนทำให้รถล้มนั่นเอง หากเราลดความเร็วลงจากการขับขี่ปกติ เมื่อจำเป็นต้องเบรกในสภาพถนนที่เปียก ก็น่าจะกำหนดระยะการเบรกได้และทันต่อสถานการณ์
วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการเดินทางในสภาพถนนเปียก คือการเข้าโค้งในมุมเอียงให้น้อยที่สุด หรืออธิบายให้ง่ายๆ ก็คือเข้าให้ช้าด้วยความเร็วที่ไม่มากนัก และถ้าทำได้อย่างปลอดภัยให้ใช้พื้นผิวที่ดูแห้งที่สุด วิธีนี้จะช่วยลดความเครียดจากยางและหมายความว่าคุณสามารถจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้าและรอบตัวคุณได้
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.visordown.com
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.