Honda ยื่นจดสิทธิบัตรระบบคลัทซ์มือแบบไฟฟ้า
ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย Honda ยังคงเป็นเบอร์หนึ่งในการนำเสนอนวัตกรรมการขับขี่ที่มีประสิทธิภาพ และความสะดวกสบายมาโดยตลอด เช่นเดียวกับล่าสุดที่ทางค่ายปีกนกได้ยื่นเอกสารเพื่อทำการจดสิทธิบัตรระบบ Robo-Clutch หรือจะสามารถอธิบายได้อย่างง่ายๆ ว่ามันคือระบบคลัทซ์มือแบบไฟฟ้านั่นเอง
แน่นอนว่าเรื่องของระบบอิเล็กทรอนิกส์บนรถมอเตอร์ไซค์นั้น มักจะพบเจอกันในรถมอเตอร์ไซค์ในระดับ 600 ซีซี ขึ้นไป ซึ่งระบบเหล่านี้จะมีการทำงานที่ควบคุมด้วยระบบ ECU หรือสมองกลขนาดเล็ก ที่จะทำการควบคุม คำนวนปัจจัยรอบด้าน และเปิดระบบการทำงาน หรือปรับเพิ่มลดระดับประสิทธิภาพการทำงานตามสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งเจ้าระบบ Robo-Clutch ที่กล่าวถึงนี้ ก็มีหลักการทำงานที่คล้ายกับระบบคันเร่งไฟฟ้าหรือ Ride-By-Wire ที่จะตัดหลักการของระบบไกแบบเมตริกออกไปและทดแทนด้วยกลไกไฟฟ้า
โดยระบบ Robo-Clutch นั้นจะเชื่อมโยงกับชุดควบคุมแรงดันไฮดรอลิก ที่จะช่วยรักษาการทำงานของระบบคลัทซ์เดิมเพียงแต่เปลี่ยนจากการดึงด้วยสายที่เราคุ้นเคยไปเป็นการใช้ปั้มปรับแรงดันด้วยไฟฟ้าแทน โดยชุดควบคุมแรงดันไฟฟ้าที่ว่านั้นจะรับข้อมูลจากการวางเซนเซอร์ต่างๆในอุปกรณ์หลายส่วนไม่ว่าจะเป็นเซนเซอร์ตรวจจับองศาการเปิดของปีกผีเสื้อ เซนเซอร์วัดความเร็วตัวรถ เซนเซอร์วัดความเร็วรอบเครื่องยนต์ เซนเซอร์เกียร์ และเซนเซอร์ drum angle โดยข้อมูลจากเซนเซอร์เหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยัง ECU เพื่อทำการคำนวนบนความเร็วแบบเศษเสี้ยววินาที เพื่อควบคุมการทำงานของปั้มแรงดันไฟฟ้า โดยจะได้ผลตอบรับเป็นการใช้งานที่เหมาะสมตามสถานการณ์
แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า Honda ได้องค์ความรู้นี้มาจากไหน มันมีความใกล้เคียงกับระบบส่งกำลังที่เป็นเอกสิทธิ์ของทางบริษัทอย่างระบบเกียร์ DCT ซึ่งในปัจจุบันเราได้เห็นทางค่ายได้ใช้ระบบเกียร์นี้ในรถมอเตอร์ไซค์ที่มากขึ้นกว่า 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันโมเดลที่มีระบบเกียร์ DCT เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคนอกจาก CRF1100L Africa Twin และ X-ADV แล้วก็ยังมี Forza 750 และ Rebel 1100 เป็นตัวเลือกในแนวทางที่แตกต่างกัน
ถึงแม้ว่าระบบจะถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีขนาดไหน แต่ในแง่ของการใช้งานจริงแล้ว ก็น่าจะมีคำถามที่ยังคงคาใจเพื่อนๆ อยู่ดี ว่าเจ้าระบบ Robo-Clutch นั้นจะสามารถตอบสนองต่อผู้ขับขี่ได้มากน้อยเพียงใด มันจะมีปัญหาเหมือนกับระบบ Ride-by-Wire ในอดีตหรือไม่ ที่จะมีการตอบสนองต่อการเดินคันเร่งที่ไม่เหมือนกับระบบคันเร่งด้วยสาย และถึงแม้ว่านวัตกรรมจะพัฒนาไปไกลจากจุดเดิมแล้วก็ตาม ความหน่วงและการตอบสนองต่อคันเร่งเองก็ยังมีอาการหน่วงเล็กๆให้เราได้เห็นกันอยู่ดี
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.visordown.com
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.