ไขปริศนาความปลอดภัยในหมวกกันน็อค
หมวกกันน็อค อุปกรณ์การขับขี่ที่นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยปกป้องเราและลดทอนความเสียหายจากหารเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีมากมายให้เลือกใช้งานกันหลายยี่ห้อ ซึ่งแน่นอนว่ามันก็มีราคาที่แตกต่างกันออกไปตามมาตรฐานความปลอดภัยที่หมวกใบนั้นผ่านการตรวจสอบ และคำถามที่หลายๆ คนสงสัยกันมากคือ หมวกกันน็อคที่มีราคาแพงจะมีความปลอดภัยสูงสุดหรือไม่ เราลองไปหาคำตอบกันในบทความนี้กันครับ
โดยปกติแล้วผู้ผลิตหมวกกันน็อคที่มีชื่อเสียงมีแนวคิดร่วมกันอย่างหนึ่ง นั่นคือความมุ่งมั่นในความปลอดภัย และช่วยปกป้องเราจากการบาดเจ็บ หรือแย่กว่านั้น เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ในการทำเช่นนั้น หมวกกันน็อคมอเตอร์ไซค์ต้องผ่านการทดสอบมากมายเพื่อพิสูจน์ความสามารถในการชน แต่การตรงตามมาตรฐานเหล่านั้นไม่เพียงพอสำหรับหลายยี่ห้อ
ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันเสมอมาว่าหมวกกันน็อคราคาแพงหลักหมื่นบาทมันจะเซฟกว่าหมวกกันน็อคราคาไม่กี่พันจริงหรือไม่ ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับกรณีที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าหมวกกันน็อคทุกใบที่วางจำหน่ายแบบถูกต้องตามกฎหมายจะต้องมีการตรวจมาตรฐานความปลอดภัยที่มีองค์กรอิสระเป็นผู้ควบคุม ยกตัวอย่างเช่นมาตรฐาน DOT (Federal Motor Vehicle Safety Standard 218), ECE 22.05, Snell (M2020R) หรือภาคเอกชนอย่าง Snell หรือ FIM FRHPhe (FIM Racing Homologation Programme) ซึ่งแต่ล่ะประเทศเองก็มีกฎหมายในการควบคุมที่แตกต่างกันออกไป การตรวจสอบมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ก็ไม่สามารถใช้งานกับบางประเทศได้ ยกตัวอย่างเช่น หมวกกันน็อคมอเตอร์ไซค์ทั้งหมดที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกาต้องมีใบรับรอง DOT หมวกกันน็อคที่จำหน่ายในสหภาพยุโรปต้องมีใบรับรอง ECE 22.05 เช่นเดียวกันกับหมวกกันน็อคในประเทศไทย ที่ต้องผ่าน มอก. (มาตรฐานอุตสาหกรรม) ถึงจะสามารถจำหน่ายได้อย่างถูกต้อง
แล้วมาตรฐานไหนดีกว่ากัน เรามาแจกแจงความต่างของค่ามาตรฐานแต่ล่ะแบบกันสักหน่อย โดยเริ่มที่ DOT ที่เราคุ้นเคยกันมาอย่างยาวนาน โดยเจ้ามาตรฐาน DOT นั้นย่อมาจาก Department Of Transportation เป็นมาตรฐานการรับรองคุณภาพหมวกกันน็อคของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี National Highway Safety Administration (NHTSA) ควบคุมดูแลในหน่วยงานนี้อยู่ โดยการผ่านมาตรฐานนี้จะต้องส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์เพื่อทำการทดสอบแรงกระแทก ซึ่งจะเป็นการตรวจเพียงครั้งเดียวถ้าผ่านแล้วก็ผ่านยาวๆไปเลย จนกว่าจะมีผู้บริโภคเข้าร้องเรียนถึงคุณภาพที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการสุ่มตรวจโดยไม่บอกกับต้นสังกัด เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายอยู่จริง ไม่ใช่ตัวเทพจากทางค่ายที่ใช้ทดสอบในภายหลัง
โดยการทดสอบของมาตรฐาน DOT นั้นจะมีการติดตั้งหมวกกันน็อคไว้ที่หุ่นทดสอบ พร้อมกับติดตั้งเซนเซอร์วัดความเร็ว โดยจะมีการทดสอบการกระทบกับวัตถุที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน ความแข็งอ่อนแตกต่างกัน และความเร็วที่แตกต่างกัน โดยพื้นฐานแล้วตัวหมวกกันน็อคจะต้องทนทานต่อแรงกระทบที่ความเร็วไม่ต่ำกว่า 60 ไมล์ต่อชั่วโมง (96.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) บนพื้นผิวความแข็งระดับ 3 จึงถือว่าผ่านมาตรฐาน
ต่อมามาตรฐาน ECE ย่อมาจาก Economic Commission for Europe หรือคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรปเป็นองค์กรตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าในภาคพื้นยุโรป หรือที่บ้านเราอาจจะเทียบได้กับ สคบ. นั่นเอง โดยจะครอบคลุมในทุกๆ ชนิดผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน ยันเรือรบ โดยจะแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็นหมวดหมู่ตามรหัสที่สร้างขึ้น โดยหมวกกันน็อคนั้นจะมีรหัส ECER22-05 ซึ่งรหัส R ย่อมาจาก Regulation หมายเลข 22 ส่วน 05 คือในส่วนของใช้งานกับรถ โดยมาตรฐานการตรวจสอบจะเทียบเท่ากับ DOT แต่จะมีความละเอียดมากกว่า และได้การยอมรับถึง 50 ประเทศ
โดยการทดสอบที่แตกต่างกันนั้น ECE จะมีการทดสอบการต้านแรงดึงที่ต้องไม่ต่ำกว่า 670 ปอนด์ การทดสอบการดูดซับแรงกระแทกโดยการทิ้งหมวกกันน็อคจากที่สูงด้วยความเร็วคงที่ รวมไปถึงการทดสอบการกระจายแรงของหมวกกันน็อคเมื่อเสียดสีไปกับพื้นผิวที่แตกต่างกันมากกว่า 5 ประเภท โดยการที่จะผ่านมาตรฐานนี้ได้นั้น ทางผู้ผลิตจะต้องทำการส่งมอบชุดผลิตภัณฑ์ที่พร้อมจำหน่ายจริงอย่างน้อย 50 ชุดให้กับองค์กร โดยจะมีผู้ทดสอบเป็นบริษัทที่สามที่ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกับทั้งสองฝ่าย โดยการทดสอบจะผ่านมาตรฐานได้นั้น ต้องผ่านทั้งหมด 50 ใบที่ส่งมอบให้ในการตรวจ หากไม่ผ่านแม้แต่ใบเดียวก็คือตกเกรดทั้งหมดและไม่สามารถเข้ารับมาตรฐานได้จนกว่าจะผ่านการปรับปรุงใหม่
ต่อมาคือมาตรฐานที่จัดว่าโหดที่สุดและได้รับการยอมรับมากที่สุด SNELL เป็นการทดสอบขององค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1957 โดยจะเป็นองค์กรเฉพาะทางที่ตรวจสอบมาตรฐานให้กับหมวกนิรภัยเท่านั้น โดยรวมถึง หมวกกันน็อคสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ กีฬาประเภทต่างๆไม่ว่าจะเป็น สโนว์บอร์ด สกี จักรยาน สเก็ตบอร์ด รวมไปถึงหมวกนิรภัยในการก่อสร้าง ซึ่งในปัจจุบันหมวกนิรภัยที่จะผ่านมาตรฐานนี้จะต้องมีส่วนผสมของววัสดุ 1 ใน 4 กลุ่มหลัก ประกอบไปด้วย ABS Plastic, Fiberglass, Polycarbonate, และ Carbon Fiber & Carbon Kevlar เท่านั้นถึงจะสามารถเข้าตรวจมาตรฐานนี้ได้
และความโหดหินของมาตรฐานนี้คือการที่ไม่ใช่เพียงตรวจครั้งเดียวในจำนวนมากๆ เหมือนกับสองมาตรฐานที่ผ่านมา แต่หมวกทุกรุ่นที่ผ่านมาตรฐานนี้จะมีการตรวจซ้ำในทุกๆ 5 ปี ซึ่งหากเกิดไม่ผ่านมาตรฐานหลังได้รับมาตรฐานไปแล้ว ผลิตภัณฑ์จะไม่ได้รับ SNELL อีกเลย และการทดสอบนั้นจะมีขั้นตอนที่ละเอียดเหมือนกับ DOT+ECE และจะมีการทดสอบที่เหนือกว่าด้วยการทนต่อไฟ และกรดเพิ่มเข้ามา
มาตรฐานต่อไปที่เราจะพูดถึงก็คือมาตรฐาน FIM FRHPhe ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ถูกพัฒนาเพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ โดยหมวกกันน็อคที่ผ่านมาตรฐานนี้ได้นั้นจะถูกนำไปใช้งานในการแข่งขันที่มีการรับรองจาก FIM ได้ทันที ซึ่งจะมีการทดสอบที่คล้ายๆ กับมาตรฐาน ECE แต่จะมีการทดสอบบนความเร็วของวัตถุที่สูงกว่า และการทดสอบการกระทบบนพื้นผิวที่แตกต่างมากกว่า 8 ชนิด และมีการใช้การทดสอบที่เหมือนกับ SNELL ในด้านการต้านแรงดึง การทนทานแรงเสียดสี ทนไฟ ทนกรด และการตกจากที่สูงด้วยความเร็วคงที่ โดยจะมีการสุ่มตรวจซ้ำในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานแล้วทุกๆ 4 ปี จึงทำให้หมวกกันน็อคที่ได้รับมาตรฐานนี้มีราคาแพงที่สุดจากกลุ่มมาตรฐานความปลอดภัยที่กล่าวมาทั้งหมด
ในส่วนของมาตรฐานแบบไทยๆ อย่าง มอก. นั้นจะมีมาตรฐานกำหนดตามเลขทะเบียน มอก.369-2557 จะมีการทดสอบการดูดกลืนแรงกระแทกที่จะวัดหน่วยเป็นกรัม ณ จุดกระทบ จะต้องไม่เกิน 275 กรัมในแบบเต็มใบ แบบครึ่งใบต้องไม่เกิน 400 กรัม การตวรสอบมาตรฐานสายรัดคาง โดยจะสวมหมวกต้นแบบไว้ที่ลูกตุ้มเหล็ก และปล่อยด้วยความเร็วคงที่ให้กระทบกับวัตถุ โดยสายรัดคางจะต้องไม่หลุดหรือย่นเกินกว่าจุดรัดก่อนการปล่อย 33 มิลลิเมตรทั้งแบบเต็มใบและครึ่งใบ และการทดสอบทั้งหมดนี้จะต้องมีการตรวจสภาพหลังการทดสอบของหมวกที่ต้องไม่ผิดรูปจากเดิมเกิน 30 องศา โดยการผ่านมาตรฐาน มอก. แล้วจะได้รับตราสัญลักษณ์ทั้งบนผลิตภัณฑ์และกล่องบรรจุภัณฑ์สำหรับการขายเพื่อยืนยันความปลอดภัยตามมาตรฐาน
สรุปแล้วมาตรฐานต่างๆ นั้นก็มีความเข้มอ่อนในการทดสอบที่แตกต่างกัน ตามที่เล่ามานั้นก็น่าจะเห็นภาพรวมของมาตรฐานที่แตกต่างกันไปพอสมควร ซึ่งแต่ล่ะมาตรฐานนั้นจะส่งผลให้ราคาจำหน่ายของหมวกแต่ล่ะใบมีความแตกต่างกัน ซึ่งการการันตีว่าหมวกที่ราคาแพงจะเซฟชีวิตจากอุบัติเหตุได้อย่าง 100% หรือไม่ เราคงไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่เห็นได้เลยคือเมื่อมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้นนั้น จะช่วยลดหย่อนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก ultimatemotorcycling.com ratchakitcha.soc.go.th
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.