8 รายการแข่งขันที่อันตรายที่สุดในโลก
สำหรับแฟนๆ มอเตอร์สปอร์ตแล้ว เชื่อได้เลยว่าต้องมีหลายๆ คนที่เคยชมการแข่งขัน WorldSBK หรือ MotoGP ที่เป็นสองรายการเมเจอร์หลักของโลก แต่เพื่อนๆ ทราบกันหรือไม่ว่ายังมีรายการแข่งขันอื่นๆ ที่จัดว่าต้องมีความกล้า บ้าบิ่น มากกว่าการแข่งสองรายการหลักนี้ โดยเราได้รวบรวมเอามาให้เพื่อนๆ ไปทราบกันผ่านบทความในครั้งนี้ กับ 8 รายการแข่งขันที่อันตรายที่สุดในโลก
Isle Of Man TT
รายการแข่งขัน Road Racing ปิดเมืองแข่งของแท้และดั่งเดิม ซึ่งจัดกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1907 โดยใช้พื้นที่บนท้องถนนสาธารณะบนเกาะ Manx ทางตอนเหนือของทะเล Irish โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น Course โดยมีจุดที่อันตรายที่สุดคือ Snaefell Mountain Course ซึ่งมีระยะทาง 37 ไมล์ หรือประมาณ 59.5 กิโลเมตร แต่บนระยะทางที่ดูเหมือนจะไม่ใกล้ไม่ไกลนี้ จะเป็นเส้นทางที่ทอดยาวผ่านหมู่บ้าน ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และสะพานปราบเซียนอย่าง Quarterbridge ที่คร่าชีวิตนักแข่งและผู้ชมไปกว่า 260 คนตั้งแต่มีการแข่งขันเกิดขึ้นมา แต่ในความเสี่ยงนี้กลับมีทีมมากมายที่หาญกล้าท้ามฤตยู ในปัจจุบันมีทีมเข้าร่วมเสี่ยงตายกับการแข่งขันนี้มาแล้วกว่า 150 ทีม โดยมี Joey Dunlop ตำนานนักแข่งชาวไอร์แลนด์เหนือผู้ล่วงลับ เป็นเจ้าของสถิติผู้ชนะมากที่สุด 26 ครั้ง และยังส่งต่อตำนานไปยังหลานชายอย่าง Michael Dunlop ที่คว้าชัยชนะไปแล้วทั้งสิ้น 19 ครั้ง เป็นรองเพียงคุณปู่และ John McGuinness ดาวบิดเลือดผู้ดี ที่ชนะไปทั้งสิ้น 23 ครั้ง
Dakar Rally
เมื่อพูดถึงการแข่งขันที่ไม่อยู่ในสนามแข่งแล้ว Dakar Rally น่าจะเป็นอีกหนึ่งในรายการที่เพื่อนๆ น่าจะนึกถึงกัน โดยการแข่งขันเริ่มต้นขึ้นในปี 1979 ภายใต้ชื่อการแข่งขัน Paris-Dakar Rally โดยเป็นการขับขี่แข่งขันแบบ Cross Country ที่โหดและหินที่สุดของโลก ออกสตาร์ทจากรุงปารีสในประเทศฝรั่งเศส ผ่านเส้นทางที่แบ่งออกเป็น Stage ไปยังจุดต่างๆ และไปจบลงที่ทะเลทรายในประเทศบูร์กินาฟาโซ ในทวีปแอฟริกา ซึ่งในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนชื่อการแข่งขันให้เหลือเพียง Dakar Rally รวมไปถึงการเปลี่ยนเส้นทางไปใช้ในส่วนต่างๆ ของโลก อย่างในอเมริกาใต้ และล่าสุดในประเทศซาอุดิอาเรเบียในปี 2020 ที่นับว่าเป็นครั้งแรกที่รายการนี้เดินทางมาสู่ทวีปเอเชียอีกด้วย ความอันตรายคงไม่ต้องพูดถึงให้มากความ เพราะนักแข่งทุกคนจะต้องมีประสบการณ์ในการขับขี่แบบ Off-Road รวมไปถึงทักษะในการดูแผนที่ การซ่อมรถเบื้องต้น รวมไปถึงทักษะการเอาตัวรอดในการหลงเข้าไปยังพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย
Pikes Peak International Hillclimb
ผ่านการแข่งขัน Road Racing กันไปแล้ว คราวนี้เราขอพาเพื่อนๆไปสู่การแข่งขันที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครพยายามที่จะเหมือน กับการแข่งขันไต่เขาสุดระห่ำ Pikes Peak International Hillclimb ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นการแข่งแบบ “Race to the Clouds” โดยใช้เส้นทางสำหรับการขึ้นสู่ภูเขา Pikes Peak ในเมือง Colorado Springs ในสหรัฐอเมริกา บนเส้นทางที่มีความยาวเพียง 20 กิโลเมตร ที่จะมีทั้งเส้นทางแบบยางมะตอยและทางกรวดลอย โดยการแข่งขันจะมีเพียงรูปแบบเดียวคือ Time Attack ที่จะปล่อยรถที่ล่ะคัน และทำการจับเวลาจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งแล้วสะสมคะแนน จนกว่าจะได้ผู้ชนะ ฟังแล้วอาจจะไม่ดูยากเย็นสักเท่าไหร่นัก แต่บนเส้นทางที่เต็มไปด้วยอันตรายที่เราคาดไม่ถึงมากมาย ทั้งทางที่คดเตี้ยว ทางลาด ทางชัน ซึ่งเป็นการรีดเค้นศักยภาพของนักแข่งและตัวรถแข่งได้เป็นอย่างดีโดยสถิติที่ยอดเยี่ยมของ Rennie Scaysbrook ที่ทำการขับขี่เจ้า Aprilia Tuono V4 1100 จากตีนเข้าสู่ยอดด้วยเวลา 9″11.0963 นาที ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดที่ Ducati พยายามจะทำลายด้วย Streetfighter V4 รุ่นก่อนการผลิตจริงเมื่อปี 2019 จนเป็นเหตุให้ Carlin Dunne นักแข่งมากฝีมือต้องมาจบชีวิตลงในการแข่งขัน
Macau Grand Prix
รูปแบบการแข่งแบบ Road Racing อีกหนึ่งรายการที่เป็นตำนานมาตั้งแต่ปี 1954 โดยใช้เส้นทางบนเกาะ Macau แห่งคาสิโนเลื่องชื่อของเอเชีย ในไต้หวัน เป็นสนามการประลองความเร็ว โดยเป็นเพียงรายการเดียวในโลกที่มีทั้งการแข่งแบบสองล้อ และสี่ล้อ บนสนามเดียวกัน โดยความอันตรายสุดๆ ของการแข่งขันรายการนี้คือ คุณจะไม่เจอกับพื้นหญ้าหรือกรวดข้างสนามเลย เพราะมันจะถูกปกคุมด้วยตึกสูง กำแพงคอนกรีต และลวดเหล็ก ซึ่งไม่ต้องพูดถึงความหนีดของถนน ที่มีน้อยกว่าสนามแข่งขันแบบ Circuit การขับขี่ต้องมีการฝึกซ้อม ทีมงานที่เชี่ยวชาญ และนักขี่ที่ใจกล้าพอจะท้ามฤตยู แต่บนความเสี่ยงเหล่านี้ นับตั้งแต่ปี 1976 จนถึงการแข่งครั้งล่าสุดในปี 2020 ที่ผ่านมานั้น กลับพบว่ามีนักแข่งเสียชีวิตเพียง 9 รายเท่านั้น นอกเสียกว่านักแข่งที่เสียชีวิตในสนามแข่งแบบ Circuit เสียอีก
The Ice Run บนทะเลสาบ Baikal
รายการนี้น่าจะเป็นรายการที่แปลกและน่าตื่นเต้นที่สุดจากรายการทั้งหมด เพราะมันไม่ได้วิ่งบนทางดำ หรือทางฝุ่นเหมือนใครๆ แต่มันวิ่งกันบนน้ำแข็ง!!! โดยการแข่งขันนี้เกิดขึ้นที่ทะเลสาป Baikal ทะเลสาปที่ลึกที่สุดในโลกที่ตั้งอยู่ใจกลางไซบีเรีย โซนที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งตลอด 365 วัน โดยพื้นน้ำแข็งบนทะเลสาปนั้นจะมีความหนาที่มากกว่า 10 เมตร และสามารถรับน้ำหนักได้มากกว่า 10 ตัน ต่อตารางนิ้ว จึงไม่อะไรน่าห่วงเกี่ยวกับการตกลงไปในส่วนล่างใต้น้ำแข็ง โดยรูปแบบการแข่งขันนั้น จะเป็นการแข่งแบบ Speed Run โดยกำหนดเส้นทางความยาว 600 กิโลเมตร โดยจะหาผู้ที่สามารถทำความเร็วสูงสุดจากการลงทำการขับขี่ 3 รัน โดยผู้ที่ทำความเร็วสูงสุดจะได้รับการบันทึกเป็นสถิติโลก ที่ได้รับการรับรองโดย Guinness World Records อีกด้วย
Imatra Grand Prix
การแข่งขันในรูปแบบ Road Racing อีกหนึ่งสนาม ที่ใช้พื้นที่ของเมือง Imatra ในประเทศฟินแลนด์ ใกล้กับชายแดนประเทศรัสเซีย โดยมีความยาวหนึ่งรอบสนามเพียง 6.03 กิโลเมตรเท่านั้น แต่จะต้องขับขี่เส้นทางที่แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ รวมไปถึงการขับขี่ผ่านทางรถไฟ สะพานข้ามแม่น้ำ และพื้นสนามที่ใช้งานเป็นถนนสาธารณะที่ไม่ได้มีความพร้อมในการแข่งขันด้วยความเร็วสูงสักเท่าไหร่ ซึ่งสนามแห่งนี้มีทั้งการแข่งขันด้วยรถมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์แบบล้อเปิดหรือรถสูตร แต่จะจำกัดอยู่ที่ F3 เท่านั้น โดยการแข่งขันนี้เปิดให้แข่งขันกันมาตั้งแต่ปี 1962 และหยุดไปเมื่อปี 1982 ก่อนจะถูกบรรจุเป็นหนึ่งในสนามการแข่งขันในรายการ IRRC หรือ International Road Racing Championship ของยุโรปในปัจจุบัน ซึ่งหากใครเคยเล่นเกมในซีรี่ส์ Ride ตั้งแต่ภาคสองขึ้นไป ก็จะรู้ได้ถึงความยากของสนามแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
Horice Road Race
การแข่งขันแบบ Road Racing อีกหนึ่งรายการที่จัดขึ้นเป็นประจำต่อเนื่อง โดยใช้เส้นทางภายในเมือง Horice ในสาธารณรัฐเช็ก เป็นสนามประลองความเร็ว โดยเส้นทางจะตัดผ่านเมือง หมู่บ้าน ร้านค้า ป่าธรรมชาติ และแน่นอนว่าไม่มีอุปกรณ์กั้นข้างสนาม จะมีก็เพียงกำแพงธรรมชาติ กำแพงหิน ฟุตบาท และที่นั่งรอรถโดยสาร ที่เป็นอะไรที่อันตรายแบบสุดๆ จึงไม่ต้องแปลกใจที่มีนักแข่งมากมายมาสังเวยชีวิตที่นี้ไปแล้วกว่า 50 รายตั้งแต่ปี 1980 ที่มีการแข่งขันอย่างเป็นทางการ
Japanese Minibike Grand Prix
ปิดท้ายด้วยรายการที่เป็นอันตรายต่อกระเพาะอาหารของเรามากที่สุดรายการหนึ่งของโลก โดยการแข่งขัน Japanese Minibike Grand Prix เป็นส่วนหนึ่งของรายการย่อยเพื่อเป็นการโปรโมทการแข่งขัน MotoGP ที่สนาม Moteki Twin Ring ในประเทศญี่ปุ่น โดยจะเชิญนักแข่งในระดับ MotoGP มาทำการแข่งขันกันบนจักรยานแบบขาถีบที่มีกลไกแบบฟรี ทำให้ตัวรถสามารถไถลไปตามแรงถีบได้ โดยส่วนมากจะมีความเร็วเฉลี่ยที่ไม่เกิน 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อล้มแล้วก็ไม่น่ากลัว แต่น่าจะขำจนท้องแข็งมากกว่า
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.visordown.com
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.