วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของ Honda CL250/CL500
เป็นกระแสมาพักใหญ่ๆ แล้วสำหรับรถมอเตอร์ไซค์รุ่นใหม่จากค่ายปีกนก Honda ที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ กับเจ้า CL250 และ CL500 ที่มันพกพาแนวทางใหม่ๆ ของทางค่าย และยังสร้างความตื่นเต้นให้กับกลุ่มแฟนคลับด้วยแนวทางใหม่ที่น่าสนใจ
จากการายงานของ Young Machine สื่อยานยนต์ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ที่ได้นำเอาภาพสิทธิบัตรจากปี 2018 ที่ถือครองโดยค่าย Honda เอามาทำเป็นภาพเรนเดอร์เหมือนจริง พร้อมกับห้อยรหัส CL250 และ CL500 โดยที่ตัวรถนั้นจะมีงานออกแบบที่เอียงไปในทิศทางของ Scrambler มีกลิ่นอายของรถ Retro เล็กๆ ด้วยการจัดวางชุดไฟหน้าทรงกลม ถังน้ำมันทรงเหลี่ยม เบาะนั่งตอนเดียวยาวเล่นระดับเล็กน้อย
1968 Honda CL450
รูปแบบของตัวรถมีการสะท้อนภาพจาก 1968 Honda CL450 อีกหนึ่งโมเดลชื่อดังจากทางค่าย ด้วยแนวทางของ Street Scrambler ที่ครอบคลุมการใช้งานทั้งบนทางเรียบและทางฝุ่น รวมไปถึงความสามารถในการลุยน้ำที่ไม่ลึกมาก และทางที่เป็นโคลน ทราย ทางลูกรัง หินลอย ได้เป็นอย่างดี ซึ่งมันก็เป็นจุดเชื่อมโยงของตัวรถที่ดูจะปรับให้เข้ากับแพลตฟอร์มสมัยใหม่และอยู่บนแนวทางการผลิตที่ Honda เชี่ยวชาญ
จากภาพเรนเดอร์เราจะเห็นได้ว่า CL250 และ CL500 นั้นมีรูปลักษณ์ของโครงสร้างหลักที่เหมือนกับ Rebel ซึ่งมันก็ค่อนข้างจะเป็นทิศทางที่ Honda มักจะทำมาเสมอ คือการใช้แพลตฟอร์มเดียวกัน บนหลากหลายโมเดล เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มหลักของ Rebel ที่ปัจจุบันใช้งานบนทั้งขนาด 300 ซีซีและ 500 ซีซี รวมไปถึงรุ่น 250 ซีซีและ 400ซีซี ในตลาดบางประเทศที่มีข้อจำกัดเรื่องใบอนุญาตขับขี่
ส่วนหนึ่งที่เราพอจะสังเกตได้ ในส่วนของ Sub-Frame นั้นมีความต่างอยู่พอสมควร โดยส่วนหนึ่งน่าจะมีผลเกี่ยวกับระยะฐานล้อ ที่ตัวรถในแนวทางของ Scrambler นั้นไม่ได้จำเป็นต้องมีระยะฐานล้อที่ยาวเหมือนกับรถในแนว Cruiser แบบ Rebel และเราก็ได้เห็นงานออกแบบท่อไอเสียที่มีปลายท่อไอเสียแบบยกสูง ถึงแม้ว่าจะไม่สูงตามรูปแบบของรถ Scrambler ที่เราคุ้นเคย แต่มันก็เพียงพอและส่งให้ตัวรถนั้นถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่นี้ได้อย่างไม่ต้องสงสัย
มาดูกันที่ขุมกำลังกันสักหน่อย อย่างที่เกริ่นไปก่อนหน้านี้ โครงสร้างของมันมีรูปแบบที่เหมือนกับ Rebel และ Rebel เองก็มีถึงสองขนาดเครื่องยนต์ให้เลือกใช้งาน เราจะเห็นได้ว่า Honda นั้นใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มได้อย่างสมบูรณ์ มันสามารถติดตั้งเครื่องยนต์แบบ 1 ลูกสูบได้ทั้งขนาด 249 ซีซี และ 286 ซีซี อีกทั้งยังติดตั้งเครื่องยนต์ 2 ลูกสูบ 399 ซีซี และ 471 ซีซี ได้อย่างลงตัว โดยที่จุดศูนย์ถ่วงของตัวรถนั้นแทบจะไม่แตกต่างกัน ถึงแม้จะมีขนาดเครื่องยนต์ที่แตกต่างกัน
มีความเป็นไปได้ว่า Honda CL นั้นจะมีถึง 4 ขนาดเครื่องยนต์ โดยที่จะแบ่งไปตามลักษณะของใบอนุญาตขับขี่ของแต่ล่ะประเทศ อย่างประเทศญี่ปุ่น ที่มีข้อขำกัดในเรื่องของขนาดเครื่องยนต์ ก็จะทำตลาดในรูปแบบของ CL250 และ CL400 ส่วนประเทศไทยที่ยังไม่เข้มงวดเรื่องนี้มากนัก ก็อาจจะขยับมาใช้งาน CL300 และ CL500 และไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นรูปแบบพิเศษสำหรับตลาดยุโรปด้วยการนำเสนอ CL125 สำหรับผู้ถือครองใบขับขี่เริ่มต้นก็เป็นไปได้
นี้อาจจะไม่ใช่แนวทางใหม่สดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากค่าย Honda แต่นี้ก็นับว่าเป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจสำหรับแพลตฟอร์มสมัยใหม่ ที่ปัจจุบันว่ากันง่ายๆ การเข้ามาของผู้ผลิตจากประเทศจีน เริ่มทำให้ตลาดรถมอเตอร์ไซค์ในระดับ Entry Level และ Middle Class เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น และดูเหมือนว่าแนวทางนี้ Honda เองจะเป็นการตอบโต้ที่น่าสนใจและดูจะมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรในการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ของใหม่ไปเสียทั้งหมด แต่มันก็นับว่าเป็นอะไรที่สร้างกระแสได้ไม่น้อย เราคงต้องรอกันจนกว่าค่ายปีกนกเองจะเปิดตัวรถเวอร์ชั่นจำหน่ายจริง ว่ามันจะเหมือนหรือแตกต่างออกไปจากภาพเรนเดอร์ของ Young Machine หรือไม่
ขอบคุณรูปภาพจาก young-machine.com
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.