ROAM Air รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ถูก ง่าย ทนทาน จากประเทศเคนย่า
เมื่อนวัตกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเริ่มมีบทบาทกับการใช้งานในชีวิตจริง เราได้เห็นบริษัทผู้ผลิตยานยนต์มากมายที่ทุ่มเทพัฒนาผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ในทิศทางนี้ แต่เรากลับไม่ค่อยเห็นผู้ผลิตจากทวีปแอฟริกา ที่กล้าจะพลิกวิถีของตนเอง และเดินหน้าพัฒนาบนแนวทางใหม่ และดูเหมือนว่าแนวคิดนี้จะเป็นแนวทางหลักให้กับ ROAM ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์จากประเทศเคนย่า ที่ใช้โอกาสกับวิถีใหม่ๆ นี้ก่อนใครในทวีปแอฟริกา
ROAM บริษัทลูกครึ่งเคนย่า-สวีเดน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2017 โดยใช้ชื่อดั่งเดิมว่า Opibus โดยตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมการเปลี่ยนมอเตอร์เชิงพาณิชย์ และบริษัทได้เปิดการระดมทุนครั้งใหญ่ในปี 2019 จนได้เงินทุนจำนวน 7.5 พันล้านดอลล่าร์ในการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเอง และได้ทำการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่เป็น ROAM และล่าสุดพึ่งจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์แรกของตัวเองภายใต้ชื่อ ROAM Air
สำหรับ ROAM Air นั้น จัดว่าเป็นรถมอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้าในรูปแบบ Street Roadster ที่เน้นการขับขี่ในเมืองเป็นหลัก โดยมีการเสริมรูปแบบด้วยองค์ประกอบของรถ MotoCross เล็กๆ บนตัวรถ เพื่อให้เข้ากับรูปแบบการใช้งานของท้องถนนในทวีปแอฟริกา ที่ส่วนใหญ่จะยังคงเป็นทางดิน โดยตัวรถจะมาพร้อมกับรูปแบบที่ทันสมัย ด้วยชุดไฟ LED รอบคัน หน้าจอแสดงผลแบบดิจิตอล และแน่นอนเทคโนโลยีที่ ROAM พัฒนาขึ้นมาเอง ก็คือระบบ Dual Battery หรือแบตเตอรี่คู่
ระบบ Dual Battery นั้นจะติดตั้งแบตเตอรี่แบบคู่ โดยแต่ล่ะชุดจะมีความจุ 3.04 kWh ซึ่งส่งผลให้ Air สามารถวิ่งได้ไกลถึง 160 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งรอบ ในขณะที่ชุดแบตเตอรี่สามารถถอดเปลี่ยนได้ แต่น่าเสียดายที่ทางผู้ผลิตไม่ได้ให้ข้อมูลในเรื่องของการประจุไฟ ว่าสามารถรับกำลังไฟสูงสุดได้เท่าไหร่ และมีระยะเวลาในการประจุไฟมากน้อยเพียงใด
ในขณะที่ มอเตอร์ขับกำลังไฟฟ้านั้น สามารถสร้างแรงบิดสูงสุดได้ 185 นิวตันเมตร และสามารถเร่งความสูงสูดสุดได้ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้เวลาเพียง 5 วินาที ตัวรถจะถูกสร้างบนโครงสร้างแบบ Steel Tabular ที่สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 220 กิโลกรัม และตัวรถก็มีน้ำหนักตัวเพียง 135 กิโลกรัมเท่านั้น
ส่วนเทคโนโลยีอื่นๆ บนตัวรถนั้น Roam Air จะมีการติดตั้งซอฟแวร์ State-of-the-art สำหรับการจัดการระบบของมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ โดยมีโหมดการขับขี่ทั้งสิ้น 4 โหมด Eco, Standard, Power และ Sports โดยมีการเสริมระบบขับเคลื่อนแบบถอยหลัง เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายกับผู้ขับขี่ ช่องเก็บของบริเวณถังเหนือแบตเตอรี่ และพอร์ตชาร์จ USB ให้อีก 1 ช่อง
ROAM ได้กล่าวว่า Air นั้นจะช่วยในเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายของผู้ครอบครอง โดยได้คำนวนอัตราสิ้นเปลืองจากการใช้งานจริง โดยจะช่วยประหยัดเงินกับผู้ครอบครองไปได้มากกว่า 68% สำหรับการใช้งานทุกๆ 10 กิโลเมตร เช่นเดียวกับการช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ด้วยการลดการปล่อยมลพิษจากการทำงานของตัวรถเมื่อเทียบกับมอเตอร์ไซค์ในคลาส 150 ซีซี ที่มากกว่า 97% ในส่วนของการซ่อมบำรุงนั้น ทางบริษัทได้กล่าวว่าผู้ครอบครองจะลดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 90% เนื่องจากตัวรถนั้นไม่ต้องการดูแลที่มากมายนัก ซึ่งก็เป็นไปตามรูปแบบของกลไกการทำงานที่มีเพียงมอเตอร์ แบตเตอรี่และระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีอุปกรณ์รวมกันเพียงไม่กี่ชิ้น ซึ่งแต่ล่ะชิ้นนั้นทางบริษัทก็มีการรับประกันการใช้งานที่มากถึง 100,000 กิโลเมตรเลยทีเดียว
ในส่วนของราคาจำหน่ายนั้น ROAM Air จะจำหน่ายในประเทศเคนย่าด้วยสนนราคา 1,500 ดอลล่าร์ หรือประมาณ 54,250 บาทเท่านั้น และปี 2023 ที่จะถึงนี้ ROAM ได้ทำข้อตกลงกับ Uber ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะของเอกชน ในการนำเอา Air ไปเป็น Motorcycke Taxi ในทวีปแอฟริกา โดยมีข้อตกลงในการส่งมอบตัวรถ 3,000 คัน และจะเริ่มให้บริการในประเทศต่างๆ ทั่วทวีปในไตรมาสที่สองของปี 2023 นอกจากนี้ Roam ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าอื่นๆ ทั้งรถบัสขนาดใหญ่ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 36 คน ระบบโซล่าร์เซลส์สำหรับให้พลังงานกับที่พักอาศัย และชุดแปลงจากรถยนต์สันดาปภายในให้กลายเป็นรถพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.visordown.com
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.