Banner Yamaha Grand Filano Hybrid Connected 2024 1150x250
Banner Yamaha Grand Filano Hybrid Connected 2024 400x300

เจาะลึกความแตกต่างของ New Honda ADV160 และ ADV150 ก่อนเปิดตัวในไทยเร็วๆ นี้!

หลังจากที่มีการเปิดตัวกันไปก่อนหน้านี้ ก็ได้สร้างกระแสตอบรับเป็นอย่างดี สำหรับผลิตภัณฑ์ รถมอเตอร์ไซค์สกู๊ตเตอร์-เอสยูวี รุ่นใหม่จากค่าย Honda ดับเจ้า New ADV160 และในบทความนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปเปรียบเทียบความต่างระหว่างโมเดลเก่าและโมเดลใหม่ ในเชิงข้อมูล ว่าทั้งสองจะมีส่วนใดที่เหมือนและแตกต่างกันบ้าง

VCpTE2.png
2020 Honda ADV150

เรียกได้ว่าเป็นโมเดลที่มีอายุค่อนข้างสั้นเลยก็ว่าได้สำหรับ Honda ADV150 เวอร์ชั่นแรก หลังจากเปิดตัวครั้งแรกไปเมื่อราวๆ ปี 2019 เท่านั้น อีกทั้งโมเดลยังไม่เคยได้รับการไมเนอร์เชนจ์เลนแม้แต่ครั้งเดียว แต่ก็ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ จากการมาถึงของเครื่องยนต์ eSP+ ที่มีความจุเครื่องยนต์ที่มากกว่า ประหยัดกว่า และประสิทธิภาพที่เหนือกว่า แต่ถ้าจะว่ากันไป การเปิดตัว New ADV160 นั้นก็อาจจะเปรียบได้กับการไมเนอร์เชนจ์ของโมเดลแบบคร่าวๆ ก็ว่าได้

เรามาดูกันที่ภายนอกกันก่อน ADV150 เป็นสกู๊ตเตอร์-เอสยูวี ลำดับที่สองจากค่ายปีกนก Honda ต่อจาก X-ADV ที่เปิดตัวไปก่อนหน้า โดยตัวรถนั้นจะมีลักษณะพิเศษ ด้วยระยะห่างจากพื้นถึงตัวรถที่มากกว่าสกู๊ตเตอร์ทั่วๆ ไป และมีการติดตั้งและเซ็ตค่าอุปกรณ์ต่างๆให้มีความแตกต่าง โดยทางผู้ผลิตจะวางบทบาทให้ ADV150 เป็นรถสกู๊ตเตอร์ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย ไม่ถูกจำกัดเพียงทางเรียบเท่านั้น แต่จะสามารถนำไปใช้งานได้เป็นอย่างดีบนทางฝุ่น ทางดิน ที่ไม่ถึงขั้น Off-Road แบบ Hardcore โดยที่ตัวรถนั้นยังคงคุณลักษณะของรถสกู๊ตเตอร์ที่ใช้งานได้ทั้งในเมือง นอกเมือง รวมไปถึงการขับขี่ในงานอดิเรก กิจกรรมกลางแจ้ง ที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงเวลานั้น

VCpf1S.jpg

และความเหมือนที่แตกต่างระหว่าง ADV150 และ New ADV160 นั้น ในงานออกแบบ โดบรวมแล้วแทบจะไม่มีความต่าง โดยทั้งสองยังคงรูปแบบสกู๊ตเตอร์-เอสยูวี ที่สามารถใช้งานได้ทั้งบนทางเรียบและทางฝุ่น ตัวรถยังคงใช้งานออกแบบเดิมจาก ADV150 ชุดไฟหน้า ชิลด์บังลมที่ปรับระดับได้ เบาะนั่ง ยังคงเหมือนเดิม มิติตัวรถแทบจะเท่ากัน โดยมีความยาว 1,950 มิลลิเมตร ความกว้าง 763 มิลลิเมตรเท่ากันแต่จะมีความต่างเล็กน้อยที่ ความสูงรวม 1,153 มิลลิเมตร บน ADV150 ส่วน New ADV160 นั้นจะมาพร้อมกับความสูงรวม 1,196 มิลลิเมตร ซึ่งส่งผลโดยรวมต่อความสูงเบาะนั่ง โดย ADV150 จะมีความสูงเบาะนั่งที่ 795 มิลลิเมตร ส่วน New ADV160 จะมีความสูงเบาะนั่งที่ 780 มิลลิเมตร มีระยะ Ground Clearance ที่ 165 มิลลิเมตร เท่ากัน ในขณะที่น้ำหนักตัว New ADV160 จะมีมากกว่า 1 กิโลกรัมด้วยกัน

VCphDn.jpg

ส่วนความต่างที่ชัดเจนที่สุดของสองโมเดล ก็คือเครื่องยนต์ โดย ADV150 จะมาพร้อมกับเครื่องยนต์ขนาด 149.3 ซีซี 1 ลูกสูบ 4 จังหวะ SOHC 2 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยของเหลว ขนาดกระบอกสูบ X ช่วงชักอยู่ที่ 57.3 x 57.9 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 10.6:1 ให้กำลังสูงสุด 14.5 แรงม้า (PS) ที่ 8,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 13.8 นิวตันเมตร ที่ 6,500 รอบต่อนาที ในขณะที่ขุมกำลังของ New ADV160 จะมาพร้อมกับเครื่องยนต์รหัส eSP+ ขนาด 156.9 ซีซี 1 ลูกสูบ 4 จังหวะ SOHC 4 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยของเหลว ขนาดกระบอกสูบ X ช่วงชักอยู่ที่ 60×55.5 มิลลิเมตร อัตราส่วนกำลังอัด 12.0:1 ให้กำลังสูงสุด 16 แรงม้า (PS) ที่ 8,000 รอบต่อนที แรงบิดสูงสุด 14.7 นิวตันเมตรที่ 6,500 รอบต่อนาที

VCp4uV.jpg

โดยชุดโครงสร้างและระบบช่วงล่าง ยังคงเหมือนกัน โดยทั้งสองโมเดลจะใช้ชุดโครงสร้างแบบ Double Cradle ที่เสริมความแข็งแรง และมีความต่างออกไปจากสกู๊ตเตอร์ในพิกัดเดียวกัน ระบบกันสะเทือนหน้ายังคงเป็น Telescopic มาตรฐาน ส่วนด้านหลังจะเป็น Coil Spring คู่พร้อมกับการติดตั้ง Sub-Tank ที่สามารถใช้งานได้จริง ในขณะที่ระบบเบรกจะเป็นการใช้งานดิสก์เดี่ยวทั้งหน้าและหลัง โดยมีตัวเลือกเป็นระบบเบรกมาตรฐานและรุ่น ABS มาพร้อมกับวงล้อขนาดไม่เท่ากัน โดยมีขนาดล้อหน้า 14 นิ้ว ล้อหลัง 13 นิ้ว พร้อมยางอเนกประสงค์ขนาด 110/80-14 ที่ล้อหน้า และขนาด 130/70-13 ที่ล้อหลังเท่ากันทั้งสองโมเดล

และความแตกต่างอีกหนึ่งอย่างระหว่างสองโมเดล คือการที่ AHM ผู้ผลิตจากมาเลเซียได้ใส่ระบบ HSTC (Honda Selectablr Torque Control) หรือระบบป้องกันล้อหมุนฟรี ซึ่งเป็นคุณสมบัติในการใช้งานด้านความปลอดภัยในการขับขี่ โดยจะเป็นระบบเดียวกับที่ยกมาจาก PCX160 Hybrid และยังคงระบบช่วยเหลือจากรุ่นเดิมทั้งระบบไฟฉุกเฉิน ESS ระบบช่วยประหยัดพลังงาน Iding Stop

VCptX1.png

ในส่วนของอุปกรณ์ฟีเจอร์บนตัวรถนั้น จะยังคงคล้ายกัน โดยมีระบบไฟแบบ LED รอบคัน หน้าจอแสดงผลแบบดิจิตอลเต็มรูปแบบ แต่มีความต่างที่รูปทรงและคุณสมบัติในการอ่านค่าเช่น มาตรวัดรอบ ตัวแสดงแบตเตอรี่ ตัวแสดงอุณหภูมิภายนอก อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ย อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงจริง ตัวแสดงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เวลา วันที่ ทริป A และทริป B ที่น่าสนใจคือ ปุ่มควบคุมทำมา แยกกันคือที่ด้านหน้าของแกนบังคับเลี้ยว

VCpkLg.jpg
2019 Honda ADV150

VCp9kW.jpg
2022 New Honda ADV160

สำหรับในส่วนของราคานั้น ในตลาดอินโดนีเซียมีการประกาศราคาของ New ADV160 โดยรุ่น STD จะมีราคาจำหน่ายที่ 36,000,000 รูเปียห์หรือประมาณ 85,532 บาท ซึ่งจะขยับจาก ADV150 ไปประมาณ 713,000 รูเปียห์หรือราวๆ 1,737 บาทเท่านั้น ในส่วนของรุ่น ABS ที่น่าจะเป็นเพียงรุ่นเดียวที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยนั้น จะอยู่ที่ 39,250,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 93,548 บาท ซึ่งขยับขึ้นจาก ADV150 หลักพันเหมือนกัน ส่วนการคาดการราคาในการทำตลาดประเทศไทยนั้น หากเราลองเทียบกับการเปลี่ยนถ่ายจาก PCX150 ที่จำหน่ายในราคาเริ่มต้นที่ 84,900 บาทไปสู่ PCX160 ที่เปิดราคาเริ่มต้น 86,900 บาท จะมีความต่างอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาท ในขณะที่ราคาแนะนำของ ADV150 นั้นจะตกอยู่ที่ 98,500 บาท หากใช้หลักการเดียวกับ PCX ราคาของ New ADV160 ก็อาจจะทะลุ 100,000 บาท แต่ไม่แน่ว่าทางผู้ผลิตในบ้านเราอาจจะใจปล้ำยอมลดส่วนต่างและกดราคาให้ New ADV160 อยู่ต่ำกว่า 100,000 บาท ก็เป็นไปได้

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก warungasep.net