ความแตกต่างของหมวกกันน็อคสำหรับรถยนต์และมอเตอร์ไซค์
หมวกกันน็อคนับเป็นอุปกรณ์นิรภัยขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับกิจกรรมมอเตอร์สปอร์ต ซึ่งพื้นฐานของหมวกกันน็อคนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการกระแทกของบริเวณศรีษะ ที่เป็นจุดสำคัญลำดับต้นๆ ของระบบร่างกายมนุษย์ ถึงแม้ว่าวัตถุประสงค์นั้นจะเหมือนกันแต่หมวกกันน็อคสำหรับรถยนต์และมอเตอร์ไซค์นั้นก็มีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร และในบทความนี้เราจะขอพาเพื่อนๆไปรับรู้ถึงความต่างนี้กันครับ
จุดเริ่มต้นของหมวกกันน็อคนั้น ชัดเจนว่ามันเกิดขึ้นจากการแข่งขัน โดยเป็นอุปกรณ์เพื่อป้องกันความเสียหายจากอุบัติเหตุในสนามแข่งจนกระทั่งมันถูกพัฒนาให้นำไปใช้เพื่อลดความสูญเสียของการคมนาคมสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากตัวรถที่ถูกพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนหมวกกันน็อคในรถยนต์นั้นจะมีมาตรฐานที่แตกต่างไปจากหมวกกันน็อคสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ โดยส่วนใหญ่จะมีมาตรฐาน SA หรือ Snell เป็นเครื่องบ่งชี้ความปลอดภัย
โดยมาตรฐาน SA หรือ Snell นั้นถูกกำหนดให้ใช้เป็นครั้งแรกในปี 1957 โดยการก่อตั้งของกลุ่มคนที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อเป็นเกียรติให้กับ William “Pete” Snell อดีตนักแข่งรถชื่อดังที่เสียชีวิตจากการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบ เพราะหัวกระแทกจากการหลุดออกไปของหมวกกันน็อคหลังจากการชน เมื่อปี 1956 จนมาถึงปัจจุบัน มาตรฐานของหมวกนิรภัยนั้นก็ถูกพัฒนาให้มีค่าการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นตามช่วงเวลา และก่อให้เกิดมาตรฐานรับรองความปลอดภัยมากมายทั้ง DOT และ UN ECE
ความแตกต่างของหมวกกันน็อคสำหรับรถยนต์และมอเตอร์ไซค์
1.การทนต่อไฟ
หมวกกันน็อคสำหรับรถยนต์นั้นจะมีมาตรฐานกันไฟที่สูงกว่าหมวกกันน็อคสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ ส่วนหนึ่งนั้นมาจากการขับรถยนต์นั้น เรามักจะเห็นผู้ขี่ติดอยู่ในห้องนักขับหลังเกิดอุบัติเหตุ และอาจจะมีการเกิดไฟไหม้จากอุบัติเหตุนั้นๆ พวกเส้นใยภายในที่หุ้มระหว่างเปลือกนอกและศรีษะของผู้สวมนั้นจะถูกสร้างด้วยเส้นใยที่ทนไฟหรือไม่ติดไฟ ในส่วนของยางเดินขอบรอบๆ ชิลด์หน้านั้นจะเป็นยางที่สามารถละลายได้เมื่อโดนความร้อนในระดับสูง โดยจะเป็นส่วนที่จะช่วยปิดและยึดเกาะชิลด์หน้าไม่ให้เปิดออก เพื่อป้องกันเปลวไฟที่อาจจะพึ่งเข้าสู่ช่องว่างขณะเกิดอุบัติเหตุได้
2.การรับแรงกระแทกที่ต่างกัน
การรับแรงกระแทกนั้นก็แตกต่างกัน หมวกกันน็อคสำหรับรถยนต์นั้นจะต้องมีค่าการรับแรงที่สูงกว่า หมวกกันน็อคสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ เพราะในส่วนของห้องขับนั้นจะเต็มไปด้วยอุปกรณ์ที่มีความแข็ง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง พวงมาลัย คานเหล็กดามรถ กระจก หน้าต่าง หรือแม้แต่หลังคา แตกต่างกันการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ที่จะเน้นไปที่การลดแรงเสียดทานจากการถูหรือไถลที่สูงกว่า
3.ส่วนป้องกันเสริมที่แตกต่างกัน
ตามาตรฐาน SA2015 หมวกกันน็อคสำหรับรถยนต์นั้นจะต้องสามารถติดตั้งอุปกรณ์ HANS (Head and Neck Safety) หรืออุปกรณ์ห้องกันคอและศรีษะ เพื่อลดโอกาสในการบาดเจ็บที่ศีรษะและคอ การแตกหักของกะโหลกและกระดูกส่วนคอที่เชื่อมต่อไปยังกระดูกสันหลัง ที่เป็นจุดที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตในทันทีหากไม่มีการป้องกัน ส่วนหมวกกันน็อคสำหรับรถมอเตอร์ไซค์นั้นส่วนนี้จะอยู่ในส่วนของเสื้อและชุดสำหรับการขับขี่แทน
4.รูปร่าง / การระบายอากาศ / อากาศพลศาสตร์ / เสียงรบกวน / น้ำหนัก
อย่างที่เราเห็นในภาพหมวกกันน็อคสำหรับรถยนต์นั้นจะไม่มีส่วนของการออกแบบเพื่ออากาศพลศาสตร์ ตัวเปลือกนอกจะเรียบเนียนกลมไปตามรูปศรีษะ เพราะมันถูกใช้งานภายในห้องขับที่ไม่มีส่วนกระทบกับอากาศด้านนอก ดังนั้นเรื่องเสียงรบกวนของมันจึงมีน้อยกว่าหมวกกันน็อคสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ เช่นเดียวกับน้ำหนักที่หมวกกันน็อคสำหรับรถยนต์นั้นมักจะหนักกว่ารถมอเตอร์ไซค์ เพราะไม่มีปัจจัยสำคัญที่ต้องต้านกับอากาศภายนอกเหมือนการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์
ข้อสรุป
มันอาจจะดูเหมือนกันแต่ก็มีความต่างอยู่ไม่น้อย แต่จะว่าไปแล้วหมวกกันน็อคสำหรับรถมอเตอร์ไซค์นั้นบางรุ่นก็ผ่านมาตรฐานสำหรับการใช้งานสำหรับแข่งรถยนต์ได้ แต่ในทางกลับกันหมวกกันน็อคสำหรับรถยนต์นั้นแทบจะไม่ถูกนำมาใช้ในกิจกรรมสำหรับรถมอเตอร์ไซค์สักเท่าไหร่ เพราะด้วยราคาที่สูงกว่าและประสิทธิภาพที่อาจจะดูไม่ค่อยจะเหมาะสม มันก็เหมือนกับน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ที่ทำหน้าที่คล้ายๆ กัน แต่ก็ไม่เหมือนกันไปซะทีเดียว
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.bikesrepublic.com
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.