วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของเครื่องยนต์ V4 รุ่นใหม่ของ Honda
หลังจากมีกระแสข่าวการพัฒนาเครื่องยนต์ V4 ใหม่ของทาง Honda โผล่ขึ้นมาบนโลกออนไลน์ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการพัฒนาเทคโนโลยีในครั้งนี้จะไปลงกับโมเดลไหนของทางค่าย ซึ่งเราทีมงาน Greatbiker เองก็ได้ทำการรวบรวมข้อมูลและความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดในอนาคตมาไว้ในบทความนี้
จะว่าไปแล้วเครื่องยนต์ V4 ของทาง Honda นั้นอยู่คู่กับแบรนด์มาอย่างช้านาน โดยมีโมเดลที่เราคุ้นเคยอย่าง VFR1200 สปอร์ตทัวร์ริ่งที่เคยเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอยู่พักใหญ่ๆ แต่ก็หายไปหลังจากการหยุดพัฒนา เมื่อการมาถึงของระเบียบไอเสีย EURO4 ที่เจ้าเครื่องยนต์ชุดนี้ไม่ผ่านมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้น และทางผู้ผลิตเองก็หันไปให้ความสนใจกับการพัฒนาเครื่องยนต์แบบ 4 สูบเรียง ที่ใช้งบประมาณที่น้อยกว่า รวมไปถึงต้นทุนการผลิตที่น้อยกว่า เพื่อสร้างให้เป็นจุดแข็งของผลิตภัณฑ์อย่างที่เราได้เห็นกันบน 650 และ 1000 ซีรี่ส์ของทางค่าย
ปัจจัยหนึ่งที่ทาง Honda ได้กลับไปใช้แผนเดิมอีกครั้งในการพัฒนาเครื่องยนต์ V4 นั้นก็คงต้องบอกเลยว่ามีส่วนไม่น้อยจากการมาถึงของโมเดลใหม่อย่าง Aprilia RS660 ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นเครื่องยนต์แบบสองลูกสูบเรียงที่ตัดตอนมาจาก V4 ของ RSV4 แต่ก็ได้นำเอาเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ V4 หลายๆ อย่างมาใช้งาน รวมไปถึงการมาของเจ้า Yamaha YZF-R7 ที่อาจจะดูไม่เข้าพวกสักเท่าไหร่ แต่มันก็คือไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดึงดูดลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ประเด็นสำคัญจากเอกสารในการยื่นของสิทธิบัตรของทาง Honda คือการใช้เทคโนโลยี V2-YECH ที่จากเดิมเครื่องยนต์ V4 มักจะประสบปัญหาในการออกตัว ที่ต้องใช้รอบเครื่องยนต์ที่สูงกว่าปกติ การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงที่มาก ซึ่งดูเหมือนว่าทาง Honda เองจะใช้เทคโนโลยีนี้มาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเหมือนกับที่ Ducati ทำบน Panigale V4S ที่จะตัดการทำงานลูกสูบคู่หลังในช่วงออกตัวและย่านความเร็วต่ำ แต่ในทางกลับกันของ Honda จะเพิ่มขีดจำกัดของการปิดลูกสูบคู่หลังได้ยาวนานกว่า และจะทำการจุดระเบิดลูกสูบคู่หลังในจังหวะที่เหมาะสม ทำให้ลูกสูบทั้งสี่ทำงานตามจังหวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แล้วจะได้อะไรจากการทำงานของระบบ V2-TECH ตอบแบบกำปั้นทุบดินได้เลยคือ การออกตัวจะใช้รอบที่ต่ำกว่า ซึ่งมันจะออกตัวได้ดีกว่าการทำงานแบบ V4 เต็มระบบ การประหยัดเชื้อเพลิงที่ต้องไหลเวียนจาก 4 ห้องเผาไหม้เหลือเพียง 2 ห้อง ก็สามารถบอกได้เลยว่าน่าจะประหยัดน้ำมันได้เกือบครึ่งหนึ่ง เพราะยังต้องมีน้ำมันบางส่วนเข้าไปไหลเวียนในสองลูกสูบคู่หลังอยู่ดี แต่ก็มั่นใจได้เลยว่าประหยัดกว่าอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่หลายๆ คนอาจจะมองข้ามไป นั้นก็คือการไล่รอบเครื่องยนต์ที่จะมีประสิทธิภาพที่สูงกว่า เนียนกว่า และเพิ่มรอบใน Rev Limit ได้มากกว่าการทำงานของเครื่องยนต์ V4 แบบเดิม
แล้วโมเดลไหนล่ะที่จะได้ใช้เทคโนโลยีนี้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่ตอบยากพอสมควร เพราะทางทฤษฎีแล้วผู้ผลิตเองสามารถสร้างเครื่องยนต์ V4 แบบนี้ได้ทั้งขนาด 600 -1,1000 ซีซี ดังนั้นความเป็นไปได้ของโมเดลจึงกว้างมากๆ แต่ถ้าให้จำเพาะลงเป็นแบบแนวทางแล้ว โดยรูปแบบมันก็ยังคงกว้างอยู่ดี เพราะมันสามารถใข้งานได้ทั้งรถมอเตอร์ไซค์ในแนว สปอร์ตฟูลแฟร์ริ่ง ทัวร์ริ่ง หรือจะเป็นสปอร์ต-ทัวร์ริ่ง เหมือนกับ VFR1200 ที่เคยเป็นมา
2021 Honda CBR600RR
เราลองวิเคราะห์ไปทีล่ะแนวทางกัน โดยเริ่มจากแนวทางของ สปอร์ตฟูลแฟร์ริ่ง ถ้าจำแนกแยกย่อยลงไปอีกในแนวทางของสปอร์ตเรปพลิก้านั้น ทาง Honda เองมีกันอยู่ 3 รุ่น เริ่มจากรุ่นเล็กสุด CBR250RR โมเดลนี้ตัดทิ้งไปได้เลย เพราะการจะทำเครื่องยนต์ V4 ในพิกัดนี้เป็นอะไรที่สิ้นเปลืองเกินไปและราคาของมันก็น่าจะแพงแบบมหาโหด แล้วรุ่นใหญ่สุดอย่าง CBR1000RR-R เองก็เป็นเครื่องยนต์ที่พัฒนาเพื่อการแข่งขัน WorldSBK การเปลี่ยนแปลงใหม่ในครั้งนี้น่าจะมีผลกระทบไม่น้อย ดังนั้นถ้าให้เก็งม้าสักตัวก็คงไม่พ้น CBR600RR ที่ถึงแม้ว่าจะมีโมเดลใหม่เข้ามาจำหน่ายในบ้านเราอย่างเป็นทางการ แต่โมเดลนี้เองก็ไม่สามารถเข้าไปจำหน่ายในโซนยุโรปได้ ด้วยการที่เครื่องยนต์ไม่ผ่าน EURO5 และยิ่งบวกกับเทคโนโลยีการปิดลูกสูบคู่หลัง ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการไล่เรียงรอบเครื่องยนต์และอัตราการสิ้นเปลืองที่น่าจะลดลงนั้น ดูมันก็เข้าท่าถ้ามันจะถูกติดตั้งในพิกัดนี้
2019 Honda CBX “Concept”
ถ้าให้ลองขยับไปสู่คลาสที่สูงขึ้น ก็คงไม่พ้นแนวทางของ สปอร์ต-ทัวร์ริ่ง ที่ปัจจุบันทาง Honda เองไม่มีโมเดลในแนวทางนี้ที่ใช้เครื่องยนต์มากกว่า 750 ซีซี เลยสักกะตัวเดียว เอาให้ใกล้เคียงที่สุดก็น่าจะเป็นโมเดล NC750X ที่ใช้เครื่องยนต์แบบสองลูกสูบคู่กับระบบเกียร์ DCT ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมันก็เป็นอีกหนึ่งโมเดลขายดีของทางค่าย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงใหม่ครั้งนี้น่าจะยังไม่เกิดขึ้นกับ NC750X แต่ความเป็นไปได้ที่น่าจะมากที่สุดก็คือการเปิดไลน์โมเดลใหม่ในพิกัด 1,000-12,000 ซีซี โดยมีคู่แข่งที่ชัดเจนอย่าง Ducati Multistrada V4 และ Kawasaki Versys1000 โดยที่ตัวรถจะยึดเอาแนวทางของ สปอร์ต-ทัวร์ริ่ง ทางเรียบเป็นแกนหลักโดยมีความสามารถแบบกึ่ง Off-Road และเป็นไปได้ที่จะดึงเอสดีไซน์จาก CBX รถต้นแบบที่เคยเปิดตัวในงาน EICMA Show 2019 มาเป็นแนวทาง
2020 Honda CB1000R
อีกทางหนึ่งที่ยากเกิดจะมองก็คือ เนกเกตสปอร์ต ซึ่งในปัจจุบันทาง Honda มี CB1000R ตัว Neo Sport Cafe อยู่ในไลน์การผลิต และถ้าให้มองลึกลงไปในเรื่องของขุมกำลังนั้น มันคือเครื่องยนต์ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2016 ที่ถูกปรับแล้วปรับอีก จนกระทั่งผ่านมาตรฐาน EURO5 ในปัจจุบัน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ากำลังของเครื่องยนต์ถูกลดทอนลงไปอย่างน่าใจหาย ถ้าเทียบกับคู่แข่งที่มีพิกัดเครื่องยนต์ไล่เลี้ยกันอย่าง Yamaha MT-10, Suzuki GSX-S1000 หรือแม้แต่ Kawasaki Z1000 ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี V4 ใหม่นี้ ก็จะช่วยยกระดับความแตกต่างให้กับโมเดลและยังเป็นการเปิดหน้าแลกกับผู้ผลิตจากยุโรปในปัจจุบันที่ Ducati มี Streetfighter V4 และ Aprilia มี Tuono V4 เป็นโมเดลเรือธง
Honda CBX RR “Concept”
อย่างไรก็ดีทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ายาวให้เพื่อนๆได้อ่านกันนี้เป็นเพียงการนำเสนอแนวคิดของพวกเราทีมงาน Greatbiker เท่านั้น ทางผู้ผลิตเองไม่มีการออกมาให้ข้อมูลหรือยืนยันว่าทั้งหมดนี้จะเป็นความจริง 100% ดังนั้นแล้วหากเพื่อนๆ มีความคิดเห็นกันอย่างไร ก็สามารถไปทิ้งความเห็นกันได้ที่ Fanpage : Greatbiker.com กันได้เลยแล้วเราจะไปอ่านคอมเม้นท์กันเหมือนเดิม
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.visordown.com
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.