สิทธิบัตรระบบกันสะเทือนหน้าแบบ Double Wishbone จากค่าย Honda
มีการเปิดเผยข้อมูลเอกสารสิทธิบัตรใหม่จากค่ายปีกนก Honda โดยเป็นระบบกันสะเทือนหน้าแบบ Double Wishbone ที่เรามักจะเห็นมันในระบบกันสะเทือนของรถยนต์ ซึ่งเอกสารนี้ทำให้เกิดเรื่องราวที่น่าสนใจเพราะตัวภาพประกอบสำหรับการยื่นจดสิทธิ์นั้น เป็นรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็ก
1934 Citroën Rosalie รถยนต์คันแรกที่ใช้ระบบกันสะเทือนแบบ Double Wishbone
สำหรับระบบกันสะเทือนแบบ Double Wishbone นั้นเริ่มต้นกันตั้งแต่ปี 1930 โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศฝรั่งเศสอย่าง Citroën เป็นผู้คิดและพัฒนาจนกระทั่งมาถูกใช้งานจริงในโมเดล Rosalie ในปี 1934 และโมเดล Traction Avant ในปีเดียวกัน จนกระทั่งถูกผู้ผลิตรายอื่นๆ นำไปพัฒนาต่อยอดกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Honda ผู้ผลิตจากประเทศญี่ปุ่นที่พัฒนาระบบกันสะเทือนนี้ไปใช้ในโมเดลระดับ Sport Cars อย่าง Honda NSX ในปี 1990 รวมไปถึง Honda S2000 และ Honda Prelude จนมาถึงโมเดลยอดนิยมอย่าง Honda Accord อีกด้วย
1990 Honda NSX รถยนต์คันแรกจากค่ายปีกนกที่ใช้ระบบกันสะเทือนแบบ Double Wishbone
โดยข้อดีของเจ้าระบบกันสะเทือนแบบ Double Wishbone นั้นก็คือช่วยให้ทีมวิศวกรมีทางเลือกในการออกแบบมากกว่าระบบกันสะเทือนประเภทอื่นๆ มันค่อนข้างง่ายที่จะหาเอฟเฟกต์ของการเคลื่อนย้ายข้อต่อแต่ละตัว ทำให้ระบบช่วงล่างของโมเดลที่ใช้ระบบนี้ สามารถปรับแต่งได้ง่ายกว่าระบบปกติ อีกทั้งยังง่ายต่อการคำนวนการแบกน้ำหนักของอุปกรณ์ช่วงล่าง และการวัดองศาของการตั้งล้อที่ง่ายกว่า เมื่อมีจุดเด่นก็ต้องมีข้อด้อย เจ้าระบบกันสะเทือนแบบ Double Wishbone นั้นค่อนข้างซับซ้อนในการติดตั้ง อีกทั้งยังมีราคาที่แพงกว่า เน้นจากมีส่วนประกอบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนั้นก็คือการบำรุงรักษาที่ต้องการความละเอียดละออมากกว่าระบบปกติ
ภาพประกอบในการยื่นจดสิทธิบัตรใหม่ของ Honda
จากเอกสารการจดสิทธิบัตรใหม่ของ Honda ที่นำเอาระบบกันสะเทือนแบบ Double Wishbone มาติดตั้งในมอเตอร์ไซค์นั้นสร้างความตื่นเต้นให้กับเราเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะโมเดลที่ทางผู้ผลิตเลือกสำหรับการจดสิทธิบัตรนั้นจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็ก โดยรูปถาพประกอบของการจดสิทธิบัตรในครั้งนี้เป็นโมเดลที่มีความใกล้เคียงกับ CT125 Hunter Cub ผสมกับ C125 Super Cub โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ โดยส่วนหน้านั้นจะมีความคล้ายกับ CT125 Hinter Cub ด้วยทรงไฟหน้ากลมแบบเปลือย โดยมีความแตกต่างที่มีการติดตั้งโช้คอัพเดียวไว้ใต้ตำแหน่งแฮนด์โดยมีการวางองศาที่ไม่ตั้งฉากกับพื้น จะมีการเอียงเข้าหาผู้ขับเล็กน้อย อีกทั้งยังมีการติดตั้งกระเดื่องทดแรงที่วางตำแหน่งในส่วนหน้าช่วยซับแรงจากโช้คอัพคู่หน้า ซึ่งการติดตั้งระบบกันสะเทือนแบบนี้ เจตนาที่สำคัญของทางผู้ผลิตน่าจะเป็นส่วนในการช่วยเหลือผู้ขับขี่ในการลดภาระในการขับขี่ ช่วยซับแรงจากระบบโช้คอัพปกติที่อาจจะแข็งจะรู้สึกสะท้านถึงมือในจังหวะควบคุม อีกทั้งยังน่าจะช่วยในการยึดเกาะของยาง ตัวรถ และผู้ขับขี่ได้ดีมากกว่าระบบปกติ
ในส่วนท้ายของโมเดลที่มีการวาง Lay Out ที่เหมือนกับ C125 Super Cub หากเราพิจารณาจากโครงสร้างปกติแล้วจะมีความแตกต่างจากโครงสร้างของ C125 อยู่พอสมควร ซึ่งจากโครงสร้างเดิมของ C125 นั้นจะเป็นแบบ Underbone แต่ในโมเดลนี้มีลักษณะที่คล้ายกับโครงสร้างแบบ Double Cradle โดยเฉพาะในช่วงท้าย ที่มีการวางท่อเหล็กคู่ใต้เบาะนั่ง แต่ในส่วนของระบบกันสะเทือนหลังนั้นแทบจะไม่แตกต่างไปจาก C125 เลยแม้แต่น้อย
โครงสร้างของ Honda CT125 Hunter Cub (สีแดง) และ Honda C125 Super Cub (ภาพปกติ)
2018 Honda C125 Super Cub
หากมองไปยังตลาดปัจจุบันของ Honda มอเตอร์ไซค์ขนาดเล็กที่อาจจะถูกมองว่าเป็นรถสำหรับครอบครัว แต่การมาถึงของ CT125 Hunter Cub นั้นทำให้เราเห็นถึงแนวทางใหม่ๆ สำหรับ Honda ในตลาดรถเล็กปัจจุบัน ที่นอกเหนือจะส่งมอบความเป็นรถครอบครัวแต่ยังใส่ลูกเล่นพิเศษสำหรับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ไว้บนตัวรถ ไม่แน่ว่าสิทธิบัตรใหม่นี้อาจจะเป็นที่มาของโมเดลใหม่สำหรับสาย Touring ที่อาจจะเป็นโมเดล Honda CL125 Touring Cub ในอนาคตก็เป็นไปได้
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก kojintekibikematome.blog.jp
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.