Banner Yamaha FINN SP 2024 1150x250
Banner Yamaha FINN SP 2024 400x300

เทคนิคการใช้เบรกในโค้งของรถมอเตอร์ไซค์

ต่อเนื่องจากบทความก่อนหน้านี้ กับเทคนิคการใช้งานเบรกพื้นฐาน ซึ่งเพื่อนๆ หลายคน มีข้อสงสัย สอบถามกันเข้ามาถึงเรื่องการใช้งานเบรกในโค้ง พวกเราทีมงาน Greatbiker จึงนำเอาข้อสงสัยของเพื่อนๆ หลายคนมาเขียนเป็นบทความ เพื่อเป็นความรู้และสร้างเสริมความเข้าใจให้กับเพื่อนๆในโอกาสนี้

15xo2I.jpg

อย่างที่บอกไปในบทความก่อนหน้านี้ การใช้งานเบรกรถมอเตอร์ไซค์นั้น แบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่ คือ เบรกหน้า (Front Brake) เบรกหลัง (Rear Brake) และการเบรกจากแรงหน่วง (Engine Brake) ซึ่งการเบรกทั้งสามรูปแบบนั้น เพื่อนๆ จะต้องทำการฝึกใช้งานจนชำนาญ เพราะมันคือพื้นฐานของการชะลอและหยุดรถแบบเบื้องต้น

15xDFP.jpg

การเริ่มต้น การใช้งานเบรกในโค้ง

เพื่อนๆ หลายๆ คนอาจจะเข้าใจว่า การใช้งานเบรก ไม่ว่าล้อหน้าหรือล้อหลัง ในจังหวะเข้าโค้งอยู่นั้นเป็นเรื่องต้องห้าม แต่ในความเป็นจริงแล้ว เพื่อนๆ สามารถทำได้ โดยสิ่งที่เพื่อนๆ จะต้องทำความเข้าใจก่อน เรื่องที่สำคัญมากที่สุดของการใช้งานเบรกในโค้ง คือเรื่องของน้ำหนักมือและเท้าในการเหยียบหรือบีบ โดยสิ่งที่เพื่อนๆ จะต้องฝึกฝนให้ชำนาญก็คือเรื่องของน้ำหนัก โดยเฉพาะการใช้เบรกหน้า ตำแหน่งของเข่าจะต้องหนีบกับถังน้ำมันเสมอ แขนจะต้องไม่ตึงจนเกินไปหรือหย่อนจนห้อย สายตามองไปยังทางออกหรือจุดที่เราต้องการจะให้ตัวรถมุ่งไป

15xsle.jpg

ฝีกการกำเบรกหน้าให้ชำนาญ

ในการใช้งานเบรกหน้า เพื่อนๆ ลองสังเกตตัวเองดูว่า เวลาปกติ เราจะเบรกรถ เราใช้นิ้วมือข้างขวาของเรากำก้านเบรกครั้งล่ะกี่นิ้ว บางคนจะใช้ สามนิ้ว หรือบางคนดู MotoGP มา บรรดานักแข่งใช้นิ้วเดียว สองนิ้ว ก็เอามาทำตาม จะบอกว่ามันผิดหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า ไม่ผิดเสียทีเดียว แต่อย่าลืมว่า ระบบเบรกในรถที่ขายทั่วๆไป กับรถแข่ง มันคนล่ะสเปกกันนะ การใช้งานนิ้วเพียงสองนิ้ว หรือนิ้วเดียวนั้น ก่อนที่จะใช้งานได้ ก็ต้องฝึกมาเป็นอย่างดี โดยวิธีการใช้เบรกหน้าที่ดีที่สุด คือการใช้ทั้งหมด 4 นิ้ว ชี้ กลาง นาง ก้อย เหลือนิ้วโป้งไว้เพื่อประคองตัวแฮนด์ไว้ โดยทำการบีบแบบไล่น้ำหนัก จากนิ้วชี้ที่กดหนักสุด ไล่มา กลาง นาง ก้อย แบบเป็นสเต๊ป นี้คือกากำเบรกหน้าที่ถูกต้อง ต่อให้อยู่ในสภาวะที่ฉุกเฉนหากเราฝึกฝนจนชำนาญ การไล่น้ำหนักการกำเบรกแบบนี้ จะช่วยไม่ให้ตัวรถนั้นเสียอาการจนหน้าพับและล้มลงได้

15xPtt.jpg

แล้วเบรกหลังล่ะ

อย่าที่เคยบอกไป เบรกหลัง มักจะถูกใช้งานเพื่อการทรงตัว หากจะใช้ในการห้ามล้อรถนั้น จะต้องใช้ระยะทางในการเบรกที่ยาวกว่าเบรกหน้า ดังนั้นเมื่อเวลาที่เราจะเบรกในโค้งแต่ล่ะครั้งสำคัญที่สุดคือการใช้เบรกหลัง เพื่อให้ตัวรถสามารถทรงตัวได้ ยกตัวอย่างเช่น เราวิ่งมาด้วยความเร็วประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อนที่จะเข้าโค้ง ก็ต้องดูกำลังของตัวรถก่อนว่าจะออกจากโค้งไหวหรือไม่ หากคำนวณแล้วว่าไม่ไหวก็ต้องทำการถอดเกียร์เพื่อให้รอบรถดีดตัว (และเป็นการเปิดใช้งาน Engine Brake ) จากนั้นกดเบรกหลังเพื่อให้รถตั้งตัวตรงก่อน แล้วค่อยเริ่มเอียงตัว จากนั้นเมื่อการทรงตัวของรถอยู่ในองศาที่ควบคุมได้ก็ปล่อยเบรกหลังและเข้าโค้งไป แต่อย่าลืมนะครับ ห้ามกำคลัทซ์โดยเด็ดขาด

15x2Gl.jpg

แล้วจะเบรกในโค้งเพื่อหยุดได้อย่างไร

คำถามนี้ตอบได้ง่ายมากครับ ในจังหวะที่เราอยู่ในโค้งนั้นตัวรถมีการเอียง เกิดองศาที่หน้ายางสัมผัสกับพื้นถนน การเบรกแบบหนักๆ ในรถที่ไม่มีระบบ Cornering ABS ตัวคาลิปเปอร์เบรกจะทำงานแบบ 100% ต่อให้มีระบบ ABS ก็ช่าง คาลิปเปอร์จะไม่มีการจับปล่อยตัวดิสก์เบรก แต่ถึงจะมีการจับปล่อยจากเซนเซอร์ที่ยังทำงานอยู่ แต่การกดเบรกหน้าแรงๆ ขณะที่เราเอียงรถอยู่นั้น ผิวยางที่สัมผัสกับถนนจะมีน้อยกว่าตอนที่รถตั้งตรง เมื่อเกิดอาการล้อล็อกเมื่อบวกกับแรงที่ส่งมาจากล้อหลังแล้ว ตัวรถจะเสียอาการ ล้อหน้าจะพับจากแรงที่ส่งมาจากด้านหลัง ซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ตามหลักการแล้ว การที่เราจะเบรกในโค้งได้คือ มือซ้ายห้ามกำคลัทซ์ เท้าขวากดเบรกหลังแบบเบาๆ เพื่อให้ตัวรถเกิดการเปลี่ยนองศาจากการเอียงให้ตั้งตรงจากนั้นก็ค่อยกำเบรกหน้าแบบไล่น้ำหนักจากการฝึกฝน ซึ่งกรณีนี้อาจจะทำให้รถและผู้ขับขี่หลุดออกจากไลน์ที่ควรจะเป็น แต่เราจะได้ความปลอดภัยที่ดีที่สุด

15xufk.jpg

ฝึกการชะลอความเร็วในโค้งให้คล่องแคล่ว

เป็นเรื่องปกติอยู่ที่ เมื่อเราไปในโค้งด้วยความเร็วสูง สมองของเราจะสั่งการเองโดยอัตโนมัติให้บีบเบรก หรือกดเบรกหลัง แต่ในการชะลอความเร็วในโค้งที่ถูกต้องที่สุด คือการ ไม่กำคลัทซ์ ยกคันเร่ง และใช้เบรกหลัง ใช้แรงต้านจากรอบของเครื่องยนต์ที่ตกลงจากการตัดการส่งกำลัง ตัวรถจะชะลอลงเองและเมื่ออยู่ในทิศทางที่เหมาะสมก็เปิดคันเร่งส่งออกไป เพื่อให้ไปต่อยังทางออกโค้ง แต่อย่าทำการลดเกียร์แบบรวบโดยเด็ดขาด ในรถที่ไม่มีระบบ Assist&slipper Clutch เมื่อมีการลดเกียร์อย่างรวดเร็ว ส่วนท้ายของตัวรถจะเกิดอาการสับ หรือสะบัด ซึ่งในจังหวะที่เราเอียงตัวอยู่นั้นโอกาสเป็นไปได้สูงมากที่เราจะเสียอาการ วิธีแก้ไขตรงจุดนี้ก็คือ หากต้องการลดเกียร์ลงมากกว่าสองเกียร์ เราต้องปั้มคันเร่งขณะที่กำลังกำคลัทซ์อยู่ เพื่อให้รอบของเครื่องยนต์นั้นตีขึ้นไป แต่จะไม่ถูกส่งกำลังไปยังชุดเกียร์ เพราะเราตัดการส่งกำลังด้วยการกำคลัทซ์ จากนั้นก็ค่อยๆ ปล่อยคลัทซ์ รอบเครื่องยนต์ที่ถูกปั้มจากจังหวะก่อนหน้านี้ จะไปชดเชยแทนที่รอบของเครื่องยนต์ที่ถูกกระชากลงมาและช่วยลดอาการท้ายสับได้ แต่อย่าลืมว่ามันแค่ช่วยลดนะครับ ไม่ใช่ป้องกันไม่ให้มันเกิด

15xj7u.jpg

สรุปส่งท้าย

ทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝนครับ เราต้องฝึกไล่น้ำหนักเบรกหน้าให้คุ้นชิน ฝึกการลงน้ำหนักที่เบรกหลังให้คุ้นเคย คลัทซ์ต้องไม่กำ คันเร่งต้องไม่เปิด เข่าสองข้างหนีบถังไม่กางออก สบตาต้องมองหาเป้าหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการชน ซึ่งนี้คือข้อสรุปสั้นๆ ของการเริ่มต้นใช้เบรกในโค้ง ตอนนี้เพื่อนๆได้ทฤษฎีไปแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการปฏิบัติจริง ซึ่งตรงนี้บอกได้คำเดียวครับ “ไม่มีความสำเร็จใดได้มาจากการไม่พากเพียร” ฝึกซ้อมบ่อยๆ เพื่อให้การขับขี่ของเพื่อน ปลอดภัยและสนุกมากขึ้นครับ