จินตนาการนักศึกษา KTM EX-C Freeride รุ่นใหม่ที่มาพร้อมระบบแบตเตอรี่เปลี่ยนได้
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้นำเสนอข่าวความร่วมมือของแบรนด์ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ในการร่วมกันพัฒนา “ระบบแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่สามารถถอดเข้าออกได้” และดูเหมือนว่าแนวคิดที่ 4 ค่ายญี่ปุ่นทำมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมานั้นจะถูกต่อยอดโดยนักศึกษาสาขาการออกแบบยานยนต์ Julien Lecreux สำหรับการสร้างผลงานในครั้งนี้
Julien Lecreux นักศึกษาสาขาการออกแบบยานยนต์ ได้นำเอาแนวคิด Swappable Battery มาเป็นแกนหลักในการพัฒนาเจ้า KTM EX-C Freeride รถมอเตอร์ไซค์ Dual Propose พลังงานไฟฟ้าที่เปิดตัวในตลาดเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา โดยมีการปรับโครงสร้างตัวรถใหม่ทั้งคัน ซึ่งมันค่อนข้างโดดเด่นเป็นอย่างมากด้วยระบบการบังคับเลี้ยวแบบ Hub Steering ที่เรามักจะเป็นในรถมอเตอร์ไซค์จากแบรนด์ Bimota ที่ทำให้ด้านหน้าของตัวรถนั้นมีความแตกต่างออกไป รวมไปถึงด้านหลังของตัวรถที่มาพร้อมสวิงอาร์มแบบแขนเดี่ยวเหมือนกับด้านหน้า
ไม่เพียงเท่านั้น ตัวรถยังมีนวัตกรรมยานยนต์อื่นๆ มากมายติดตั้งบนตัวรถ ทั้งสตาร์ทมอเตอร์แบบไร้กุญแจ หรือระบบสุดล้ำอย่างหน้าจอแสดงผลแบบ Head up Display ที่ชิลด์หน้า แต่ที่ดูจะโดดเด่นกว่าก็คือการใช้แนวคิด Swappable Battery หรือการถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่บนตัวรถได้ โดยที่แบตเตอรี่ที่สามารถถอดเข้าออกได้นั้นจะเป็นส่วนเสริม เพื่อให้ตัวรถสามารถวิ่งทำระยะได้มากขึ้นกว่าเดิม จากชุดแบตเตอรี่ที่ติดตั้งในตัวรถเป็นมาตรฐาน โดยจะติดตั้งชุดแบตเตอรี่แพ็กเสริมในลักษณะที่คล้ายกับถังน้ำมันของรถมอเตอร์ไซค์ทั่วๆไป โดยแบ่งออกเป็นสองฝั่ง จึงทำให้ตัวรถนั้นมีจำนวนแบตเตอรี่สูงสุดที่สามลูกด้วยกัน
จากการอธิบายของผู้ออกแบบนั้นตัวรถจะเริ่มใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เสริมเป็นแหล่งพลังงานแรก เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถถอดแบตเสริมออกเพื่อปรับน้ำหนักของตัวรถให้เบากว่าเดิม สำหรับการขับขี่ในรูปแบบของ Off-Road ซึ่งจะช่วยลดน้ำหนักของตัวรถได้มากกว่า 50 กิโลกรัม ทำให้ตัวรถนั้นมีความสามารถในการขับขี่ได้ดีขึ้น สะดวกขึ้นกว่าเดิม
แต่ทั้งนี้ ผลงานชิ้นนี้ยังเป็นเพียงชิ้นงานของนักศึกษาเท่านั้น หากให้เรามองไปที่ข้อดีของมันก็พบอยู่หลายจุด เช่นเดียวกับข้อด้อยของมันก็มีอยู่มากไม่แพ้กับข้อดี
เรามาดูข้อด้อยบนชิ้นงานนี้กันสักหน่อย ตัวรถมาพร้อมกับระบบ Hub Steering ที่ขึ้นชื่อเรื่องของราคาที่สูงมากๆ และยังมีความเสี่ยงต่อการดีเลย์ของระบบในการทำงานที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาในการขับขี่แบบ Off-road ได้ ตัวรถมาพร้อมกับระบบกันสะเทือนหน้าหลังแบบเดี่ยว ที่ดูอาจจะไม่เหมาะกับรถในแนวนี้สักเท่าไหร่ ซึ่งส่งผลต่อความแข็งแรงโดยรวมของระบบช่วงล่าง และนวัตกรรมบางอย่างก็มีราคาที่สูงเกินไปสำหรับการติดตั้งบนรถมอเตอร์ไซค์ ที่ยังไม่มีกระบวนการผลิตที่สามารถลดต้นทุนได้ และที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุด คือการเปลี่ยนของน้ำหนักของรถในจำนวนที่มากขึ้นนั้น การกำหนดจุดศูนย์ถ่วงของตัวรถนั้นจะเป็นอะไรที่คำนวนได้ยากมากๆ และรวมไปถึงการขับขี่ที่มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักจะทำให้ตัวรถนั้นมีการเปลี่ยนแปลงมากเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
เอาเป็นว่า KTM ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบชิ้นนี้แต่อย่างใด แต่ก็ไม่แน่ว่าทาง KTM เองอาจจะเห็นอะไรบางอย่างจากผลงานนักศึกษาในครั้งนี้และนำไปปรับใช้กับรถมอเตอร์ไซค์ของตนเอง แต่ถ้าจะให้บอกว่า KTM จะยกทั้งหมดนี้ไปใส่ในตัวรถคงเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตและค่าใช้จ่ายที่อาจจะส่งผลให้ตัวรถนั้นมีราคาที่สูงเกินไปหากเทียบกับคู่แข่งในตลาด
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.rideapart.com
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.