สิทธิบัตรใหม่ Kawasaki เรื่องระบบ Hub Steering
สิทธิบัตรใหม่เอี่ยมจาก Kawasaki ผู้ผลิตชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ที่หลังจากจากเข้าซื้อกิจการของ Bimota เมื่อปลายปีที่ผ่านมาถึง 49% และได้มอบเครื่องยนต์ Supercharge ให้กับทาง Bimota ไป ในที่สุดสิ่งที่ได้คืนมานั้นก็คือระบบ Hub Steering ที่ทางผู้ผลิตอิตาลีเป็นผู้บุกเบิก แต่จะว่าไปแล้ว Kawasaki เองก็ไม่ได้ถ่ายสำเนามาทั้งดุ้น แต่กลับพัฒนาเพื่อการผลิตในจำนวนมาก และอาจจะกลายเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของวงการมอเตอร์ไซค์
Bimota Tesi H2
เป็นคำถามที่หลายๆ คนค่อนข้างจะงงงวยเป็นอย่างมากกับการเข้าซื้อกิจการขนาดเล็กอย่าง Bimota ของ Kawasaki ด้วยสาเหตุหลายๆ อย่างที่ทำให้พวกเราสงสัยว่าทำไมผู้ผลิตลำดับที่สามของโลกมอเตอร์ไซค์สนใจในค่ายขนาดเล็ก ที่มีการผลิตโมเดลเพียงไม่กี่รุ่นในช่วงเวลา 30 ปีที่ก่อตั้งบริษัท ซึ่งต้องบอกก่อนว่า Bimota นั้นก่อตั้งบริษัทกันในปี 1990i แต่เริ่มการพัฒนาระบบ Hub Steering มาตั้งแต่ปี 1982 ในช่วงที่ยังเป็นนักศึกษา และตลอดเวลากว่า 30 ปีในการก่อตั้งบริษัท Bimota ได้ผลิตโมเดลเพื่อการจำหน่ายไม่ถึง 10 รุ่น ซึ่งส่วนใหญ่เน้นไปที่การผลิตเครื่องยนต์ส่งต่อไปยังค่ายอื่นๆทั้ง Ducati, Bmw, Suzuki,Yamaha และ Kawasaki ที่ภายหลังกลายเป็นผู้ถือหุ้น 49% ของบริษัทในปัจจุบัน
Biomta SB6
คำตอบเพียงหนึ่งเดียวสำหรับการเข้าซื้อหุ้นกิจการครั้งนี้ของ Kawasaki ก็เพื่อระบบ Hub Steering ที่ Bimota เป็นผู้ถือครองอยู่ ซึ่งชัดเจนว่าระบบช่วงล่างที่ Bimota เป็นผู้คิดค้นขึ้นมานั้นมีความโดดเด่นทั้งเรื่องของรูปลักษณ์และประสิทธภาพในการใช้งาน แต่ก็ติดปัญหาอยู่ที่การผลิตในจำนวนมาก ระดับ Mass Production นั้น ต้นทุนในการผลิต 1 คัน นั้นสูงเป็นสองเท่าของรถมอเตรอ์ไซค์ทั่วไป และราคาต้นทุนในการผลิตที่สูงนี้กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ Bimota เข้าสู่สภาวะของแบรนด์ผู้ผลิตที่มีขนาดเล็กจากจำนวนการผลิตที่ไม่ได้สูงมากสักเท่าไหร่
แต่ล่าสุด Kawasaki ได้เปิดเผยข้อมูลสิทธิบัตรใหม่เอี่ยม ที่น่าจะนำเอาระบบ Hub Steering ของ Bimota มาพัฒนาใหม่ โดยการลดต้นทุนเพื่อการผลิตในจำนวนมาก โดยเจ้าระบบ Hub Steering ใหม่ของ Kawasaki นั้นมีความแตกต่างจากระบบเดิมๆ ของ Bimota อยู่พอสมควร ซึ่งเห็นได้ชัดว่ายักษ์เขียว ได้เลือกใช้งานระบบสวิงอาร์มหน้าแบบแขนเดี่ยว แทนที่ระบบสวิงอาร์มหน้าแบบคู่ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับที่ Yamaha เลยทำมาแล้วในปี 1993 กับโมเดล GTS1000 แต่มีความแตกต่างที่ระบบสวิงอาร์มแขนเดี่ยวนั้นเชื่อมต่อโดยตรงกับโครงสร้างหลัก ซึ่งเป็นแนวคิดที่แตกต่างและตามข้อมูลเทคนิคนั้นสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้กว่า 10-15% เลยทีเดียว
1993 Yamaha GTS1000
สำหรับการเชื่อมต่อสวิงอาร์มหน้ากับโครงสร้างหลักโดยตรงนั้น เป็นแนวคิดที่ชาญฉลาด ซึ่งเดิมที่เจ้าระบบสวิงอาร์มหน้าแบบคู่จะรับภาระในการรับแรงเบรกจากล้อหน้า แทนที่ระบบโช้คอัพหน้าแบบธรรมดาส่งไปยังตัวจับแฮนด์ และแฮนด์บาร์ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดที่ล้อหน้า โดยเจ้าระบบสวิงอาร์มหน้าคู่จะใช้หลักการที่ใกล้เคียงกันกับระบบโช้คอัพหน้าปกติ ที่จะส่งแรงไปยังตัว Center Hub เพื่อกำหนดแรงกดส่งไปยังโช้คอัพหน้าที่วางนอนตามแกนและสร้างแรงกด ซึ่งความแตกต่างของระบบใหม่ของ Kawasaki นั้นจะใช้แรงที่เกิดจากโครงสร้างในการเคลื่อนที่ให้ส่งแรงกดไปยังล้อหน้าแทน โดยจะมีความแตกต่างกันที่องศาของแรงกดที่จะมีแรงกดในแนวดิ่งที่มากกว่าระบบเดิมของ Bimota ซึ่งภาระหน้าที่ที่จะมีบทบาทมากขึ้นนั่นก็คือ โครงสร้างที่จะแตกต่างออกไปจากรถมอเตอร์ไซค์ที่เราเคยพบเจอ เพราะนอกจากจะต้องรับหน้าที่ในการแบกน้ำหนักรถ ผู้ขับขี่แล้ว ยังต้องเป็นส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเบรก ซึ่งแน่นอนว่าราคาของมันน่าจะไม่ใช่น้อยๆ เลยทีเดียว
อีกความแตกต่างของระบบใหม่จาก Kawasaki ก็คือตำแหน่งการวางโช้คอัพหน้า ที่เลือกที่จะวางขวางกับตัวรถ ที่เดิมที่ Bimota จะเลือกที่จะวางโช้คอัพตามแนวของสวิงอาร์มหน้าคู่ ซึ่งการวางโช้คอัพแบบขวางของ Kawasaki นั้นจะวางอยู่ต่ำกว่าตัว Steering Head และใช้แรงกดจากสวิงอาร์มหน้าเดี่ยวในการทำงาน และเป็นการเสริมประสิทธิภาพในการรับแรงจากการเข้าโค้งตามรูปแบบของสวิงอาร์มหลังเดี่ยว ที่หลายๆ ค่ายมักนิยมใช้กัน
แน่นอนว่าการเปิดเผยสิทธิบัตรใหม่ในครั้งนี้ของค่ายยักษ์เขียวนั้น อาจจะยังไม่เห็นเป็นรูปเป็นร่าง หรืออยู่ในขั้นตอนของการผลิตจริง แต่ในแง่ของข้อมูลเทคนิคแล้ว การยื่นจดสิทธิบัตรครั้งใหม่นี้แสดงออกให้เห็นถึงความไม่ยอมแพ้ของ Kawasaki ที่ต้องการจะพัฒนาระบบเดิมที่เราเคยเห็นให้สามารถใช้งานได้จริงและอาจจะยกระดับระบบที่มีประสิทธิภาพนี้เข้าสู่ตลาดรถมอเตอร์ไซค์ได้ในอนาคต ถึงแม้ว่าจะยังไม่ชัดเจนว่าราคาจะถูกลงกว่าเดิมมากน้อยเพียงไหน แต่ถ้าเทียบได้กับคำว่า “นวัตกรรม” มันก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อยใช่ไหมครับ
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก www.bennetts.co.uk
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.