เมื่อ Yamaha Aerox Alpha ท้าชน Honda Vario (Click) 160
หลังจากการเปิดตัวโมเดลใหม่ของ Yamaha Aerox Alpha ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งว่ากันตามตรงแล้ว ตัวรถรุ่นใหม่นี้เป็นคู่ปรับโดยตรงของ Honda Vario 160 หรือที่ทำตลาดในประเทศไทยภายใต้ชื่อ Click 160 ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีรุ่นใหม่ออกมา และเป็นคู่แข่งขันกันแบบนี้ เราก็ต้องขอจับมันมาเปรียบเทียบกันสักหน่อย
Honda Vario ((Click) 160
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนเลยว่า การเปรียบเทียบกันในครั้งนี้ จะเป็นการนำเอาสเปกและข้อมูลของทั้งสองโมเดลที่วางจำหน่ายในประเทศอินโดนีเซีย หากการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากนี้
Yamaha Aerox Alpha
มาเริ่มกันที่งานออกแบบก่อนเลย ทั้งสองโมเดลจะถูกจัดให้เป็นรถออโตเมติกส์-สปอร์ตครอบครัว ที่มีงานออกแบบที่เน้นเหลี่ยมมุมคล้ายๆ กัน แต่ก็มีความต่างเล็กน้อยตรงที่วางเท้าของ Vario 160 จะมีลักษณะเป็นพื้นเรียบ ต่างจาก Aerox Alpha ที่จะมีคานกั้นกลางระหว่างขาทั้งสองข้าง โดยหลักแล้วการที่มีคานคาดกลางลำตัวแบบนี้ ก็เป็นไปตามรูปแบบของโครงสร้างตัวรถ ที่ Aerox Alpha เลือกใช้งานโครงสร้างแบบ Underbone ซึ่งต่างจาก Vario 160 ที่เป็นโครงสร้างแบบ eSAF โดยสาเหตุที่ Aerox Alpha เลือกใช้งานโครงสร้างแบบนี้ มันก็มีเหตุผลมารองรับอยู่เหมือนกัน
ประเด็นแรกของการใช้งานโครงสร้างแบบ Underbone ของ Aerox Alpha นั้น ก็ต้องเจาะลึกลงไปในเรื่องของกำลังจากเครื่องยนต์ โดยตัวรถ Aerox Alpha เองจะใช้งานเครื่องยนต์รูปแบบเดิมจาก Aerox รุ่นก่อนหน้า โดยใช้งานเครื่องยนต์แบบสูบเดียว 155 ซีซี ที่มีระบบวาล์วแปรผัน VVA แต่เครื่องยนต์ชุดใหม่นี้ มีตัวเสริมกำลังอย่างระบบ Y-Shift ที่เป็นการยกระดับชามให้สูงขึ้นชั่วคราว ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังในระยะสั้นๆ ซึ่งหมายความถึงแรงบิดที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด การเลือกใช้โครงสร้างแบบ Underbone ที่มีจุดเชื่อมที่สามารถกระจายแรงบิดที่เกิดขึ้นชั่วขณะ ก็จะให้ความทนทานที่สูงกว่า และเมื่อตัวรถมีการเพิ่มระบบคันเร่งที่มีให้เลือกใช้งานสองโหมดการขับขี่ (T-mode และ S-mode) ซึ่งจะให้กำลังและแรงบิดที่แตกต่างกัน การเลือกใช้งานโครงสร้างแบบนี้ ก็เพิ่มความยืดหยุ่นให้กับตัวรถ
แม้ว่าจะดูมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย แต่มันก็ต้องแลกมาด้วยข้อสังเกตเล็กๆ น้อย เรื่องนั้นก็คือเรื่องของน้ำหนักตัว โดยตัวรถ Aerox Alpha รุ่นท๊อปที่ใส่มาเต็มระบบนั้น จะมีน้ำหนักตัวที่ 130 กิโลกรัม ในขณะที่ Vario 160 รุ่น ABS จะมีน้ำหนักตัวที่ 117 กิโลกรัม และน้ำหนักตัวนี้เองจะกลายเป็นข้อเสียเปรียบเล็กๆของ Aerox Alpha ในภาพรวม
เรื่องต่อมาก็คือขุมกำลัง อย่างที่เกริ่นไป Aerox Alpha รุ่นท๊อปถือว่าเป็นออโตเมติกส์ที่จัดเต็มที่สุดในคลาสนี้ โดยมีทั้งขุมกำลัง VVA ระบบเกียร์ YECVT และตัวช่วยเริ่มกำลังชั่วคราวอย่าง Y-Shift ตัวเครื่องยนต์เองกลับมากำลังสูงสุด 15.4 แรงม้า (PS) ที่ 8,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 14.2 นิวตันเมตรที่ 8,000 รอบต่อนาที ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับ Vario 160 ที่ใช้งานเครื่องยนต์สูบเดียว eSP+ขนาด 156.9 ซีซี ที่รีดกำลังได้ 15.4 แรงม้า (PS) เท่ากัน แต่ใช้เครื่องยนต์ในรอบที่สูงกว่า 500 รอบต่อนาที ในขณะที่แรงบิดสูงสุด 13.8 นิวตันเมตร จะใช้รอบเครื่องยนต์ที่ 7,000 รอบต่อนาที เริ่มเห็นความต่างเล็กๆ กันแล้วสินะ
เรื่องนี้ต้องเจาะลึกลงไปอีก เราจะเห็นได้ว่าทั้งสองโมเดลมีความจุเครื่องยนต์ที่ใกล้เคียงกัน แต่กลับมีกำลังที่เท่ากัน และแรงบิดที่ต่างกัน อะไรคือสิ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่าง เรามาดูถึงขนาดกระบอกสูบและช่วงชักกัน โดย Aerox Alpha จะมาพร้อมกระบอกสูบขนาด 58.0 มิลลิเมตร มีระยะชักที่ 58.7 มิลลิเมตร จะเห็นได้ว่ามันมีลักษณะที่เกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ซึ่งรูปแบบของเครื่องยนต์นี้ จะให้แรงบิดสูงกว่ากำลัง ซึ่งปลายทางของการเร่งนั้น แรงบิดจะให้ค่าที่สูงกว่าตัวเลขกำลังในรอบที่เท่ากัน ซึ่งมันจะเกิดอะไรขึ้น หากเราเกิดยกคันเร่งในขณะที่ไต่ความเร็ว สิ่งที่ได้คือ กำลังของเครื่องยนต์จะตกแบบวูบ สวนทางกับแรงบิดที่จะค่อยๆ ลดลง และทางผู้พัฒนาเองก็แก้เกมด้วยการใส่ระบบวาล์วแปรผัน ทำให้การยกวาล์วเป็นไปตามรอบเครื่องยนต์ เพื่อป้องกันไม่ให้กำลังของรอบการหมุนนั้นตกเร็วจนเกินไป ทำให้การต่อความเร็วเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อผนวกเข้ากับระบบ Y-Shift ที่จะยกตำแหน่งของชาม ทำให้สายพานส่วนกำลังมีระยะทางเดินที่สั้นลง ก็จะได้แรงบิดที่เพิ่มขึ้น เหมือนการเปิด “เทอร์โบ” ก็ต้องบอกเลยว่า Aerox Alpha เป็นม้าตีนต้นที่น่ากลัวไม่น้อย
เรื่องนี้สวนทางกับ Vario 160 ที่มีขนาดกระบอกสูบ 60 มิลลิเมตร และระยะชัก 55.5 มิลลิเมตร ซึ่งจะเป็นลักษณะของสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยลักษณะของการทำงานจะให้กำลังที่สูงกว่าแรงบิด ดังนั้น เมื่อลดความเร็วในขณะเร่ง กำลังของเครื่องยนต์จะตกลงมาช้ากว่าแรงบิด ทำให้การไต่ความเร็วทำได้ดีกว่า แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการจุดระเบิดที่บ่อยกว่า นั้นหมายความว่าจะสูญเสียเชื้อเพลิงมากกว่า และจะเกิดความร้อนสะสมในการทำงานที่มากกว่านั่นเอง
แล้วถ้าถามว่าเมื่อกำลังของเครื่องยนต์ ลงไปที่ล้อหลังแล้ว ระหว่างสองโมเดลนี้ใครดีกว่ากัน ก็บอกตามตรงเลยว่า หากดูจะข้อมูลแล้ว ทั้งสองโมเดล มีข้อดีและข้อสังเกตที่ต่างกัน สิ่งที่ Aerox Alpha ดูจะเสียเปรียบ Vario 160 ก็คือเรื่องของน้ำหนักตัว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่ออัตราส่วนของกำลังต่อน้ำหนัก เมื่อนำเอาผู้ขับขี่ที่มีน้ำหนักตัวเท่ากัน มาขับขี่ ตามทฤษฏีแล้ว Aerox Alpha ดูจะได้เปรียบกว่าเล็กน้อย และน่าจะเสมอกันในรอบความเร็วกลางถึงสูง
ในแง่ของฟีเจอร์นั้น Aerox Alpha ถือว่าจัดเต็มกว่า ด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของบริษัท ที่มีทั้งระบบต่างๆ มากมายที่เกริ่นไปข้างต้น ยังมีฟีเจอร์ที่เหนือกว่า Vario 160 อย่างระบบ Y-Connect ระบบ Riding Mode ที่มีให้เลือกใช้งานสองโหมด แต่ทั้งสองโมเดลก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่คล้ายกัน อย่างระบบช่วยประหยัดเชื้อเพลิง ISS ของ Vario 160 และ SSS ของ Aerox Alpha ช่องเสียบชาร์จ USB type A ที่มีเหมือนกัน แต่ Aerox Alpha เหนือกว่าในเรื่องของช่องเก็บสัมภาระใต้เบาะนั่งที่มีความจุ 24 ลิตร ในขณะที่ Vario 160 จะมีขนาด 18 ลิตร
เรื่องสุดท้ายที่จะไม่เอามาเปรียบเทียบกันเลยถือว่าผิด คือเรื่องของราคาจำหน่าย โดย Vario 160 ที่เปิดตัวมาก่อนหน้านี้ ในรุ่นท๊อปมีราคาจำหน่ายในอินโดนีเซียที่ 31,035,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 65,465 บาท ในขณะที่ Aerox Alpha รุ่น Turbo Ultimate ที่เป็นตัวท๊อป จะจำหน่ายในราคา 41,730,000 รูเปียห์ หรือราวๆ 88,035 บาท จะเห็นไดว่าราคาค่อนข้างห่างกันอยู่
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก warungasep.net
Keattisak Ngamkham – Writer, automotive journalist with experience The whole motorcycle industry and the motorsport industry Expert in doing reviews of all types of motorcycles.