Banner Yamaha Grand Filano Hybrid Connected 2024 1150x250
Banner Yamaha Grand Filano Hybrid Connected 2024 400x300

เจาะลึก ระบบต่างๆ ในรถบิ๊กไบค์ยุคนี้ ที่มือใหม่ต้องรู้!!! Traction Control, Slipper Clutch, Launch Control ฯลฯ

ในทุกวันนี้รถบิ๊กไบค์ทั้งหลายที่เปิดตัวออกมานั้น ไม่ได้มีประเด็นแค่เรื่องของความจุ cc เครื่องยนต์, แรงม้า และทอร์คเพียงเท่านั้น แต่ว่ามันพ่วงมาด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ที่เริ่มจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เราจะได้เห็นคำศัพท์แปลกๆ มากมายตามข่าวหรือรีวิวต่างๆ วันนี้ทาง GreatBiker.com อาสารวบรวมความหมายและประโยชน์ของออพชั่นต่างๆ เหล่านี้มาฝากเพื่อนๆ กัน

Traction Control (แทรคชั่นคอนโทรล) – อันนี้สามารถแปลให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีนั่นเอง ตรงนี้ทำงานยังไง ก็คือว่าปกติแล้วบางจังหวะ มีโอกาสที่ล้อหน้าและล้อหลังของรถมอเตอร์ไซค์เรานั้นจะหมุนไม่สัมพันธ์กันได้ เนื่องจากวิ่งไปบนถนนที่เปียกหรือแม้กระทั่งมีฝุ่นเกาะอยู่ ทำให้เกิดอาการลื่น จนทำให้เสียการทรงตัวได้ ระบบ Traction Control นี้เองจะช่วยตัดกำลังของเครื่องยนต์เพื่อทำให้ล้อหลังไม่หมุนฟรี และสามารถกลับมายึดเกาะกับพื้นถนนได้ตามเดิม ช่วยให้เรากลับมาควบคุมรถได้ตามปกติอีกครั้ง และรถไม่ล้มนั่นเอง

9fjgCy.jpg

Slipper Clutch (สลิปเปอร์คลัทช์) – อันนี้เป็นอีกหนึ่งระบบที่รถบิ๊กไบค์ในปัจจุบันนี้นิยมใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ มันคืออุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ช่วยป้องกันท้ายรถไม่ให้ปัด และล้อรถไม่ให้ล็อกขณะที่เรากำลังทำการเปลี่ยนเกียร์นั่นเอง ลองนึกภาพในปกติแล้วเวลาที่เราลดเกียร์เกียร์ในขณะที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูงๆ จะมีอาการกระตุกเกิดขึ้น จนบางครั้งอาจจะทำให้เสียจังหวะในการเข้าโค้งหรือทรงตัวได้ เจ้า Slipper Clutch นี่แหล่ะที่จะช่วยให้การจับตัวของแผ่นคลัทช์นั้นไม่สนิท 100% ทุกแผ่น แต่จะจับตัวแค่ประมาณสักครึ่งหนึ่งเท่านั้น ทำให้เกิดการลื่นในระหว่างที่จับตัวกันของแผ่นคลัทช์ ซึ่งก็จะทำให้ตัวรถนั้นไม่กระตุกเวลาเราเปลี่ยนเกียร์ในความเร็วสูงนั่นเอง ซึ่งจะเห็นประโยชน์ของมันอย่างมากในรถที่มีทอร์คโหดๆ และเอนจิ้นเบรกหนักๆ

2018_YAM_YZF1000R1SPL_EU_BWM2_ACT_001-55588

Quick Shifter (ควิกชิฟเตอร์) – อธิบายง่ายๆ ก็คือทำให้เราสามารถเปลี่ยนเกียร์รถได้โดยไม่ต้องกำคลัทช์นั่นเอง ซึ่งจริงๆ แล้วรถปกติทั่วไปที่ไม่มีอุปกรณ์ตัวนี้ก็สามารถเปลี่ยนเกียร์โดยไม่ต้องกำคลัทช์ได้ หากว่าเปลี่ยนในจังหวะที่รอบนั้นเหมาะสม แต่ว่ายังไงก็ตามมันจะยังมีอาการกระตุกและทำให้เกิดการสึกหรอของเครื่องยนต์ได้มากกว่าการกำคลัทช์เข้าเกียร์ตามปกติ และเราเองก็ต้องคอยผ่อนคันเร่งเวลาจะเปลี่ยนเกียร์อยู่ดี แต่เจ้า Quick Shifter นี้จะช่วยให้เราเปลี่ยนเกียร์แบบไม่บีบคลัทช์กันได้โดยไม่ต้องกังวลถึงรอบเครื่องที่เหมาะสม และไม่ต้องผ่อนคันเร่งด้วย อ่านมาถึงตรงนี้คงจะเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า มันจะมีประโยชน์สูงสุดกับรถแข่งในสนามที่ต้องการทำความเร็วสูง โดยไม่ต้องสะดุดกับการกำคลัทช์ให้รอบตกหรือต้องคอยผ่อนคันเร่งนั่นเอง

Launch Control (ลอนซ์คอนโทรล) – เป็นระบบที่จะช่วยเซ็ทรอบในการทำงานเริ่มต้นตั้งแต่ตอนรถนิ่งๆ ก่อนจะบิดคันเร่งกันเลย ว่าจะให้รอบของเครื่องยนต์นั้นเริ่มทำงานที่รอบเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่นรถบิ๊กไบค์คันหนึ่งได้เซ็ท Launch Control ไว้ที่ 6,000 รอบต่อนาที นั่นก็หมายความว่าหลังจากที่เราสตาร์ทเครื่องแล้วก็เปิดคันเร่งไปแบบปกติ ตัววัดรอบก็จะวิ่งไปที่ 6,000 รอบในทันที (ช่วยให้เราไม่ต้องคอยเบิ้ลเครื่องในขณะที่จอดอยู่ก่อนทำการวิ่ง เพื่อเรียกรอบ) หลังจากนั้นรถเราก็จะได้แรงม้าและทอร์คในระดับ 6,000 รอบตั้งแต่ทีแรกเลย

Engine Brake (เอนจิ้นเบรก) – แน่นอนว่าศัพท์นี้หลายๆ คนนั้นย่อมรู้จักมันเป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดเกี่ยวกับเจ้า Engine Brake นี้ นั่นก็คือยังเข้าใจผิดว่าเอนจิ้นเบรกจะทำงานต่อเมื่อเราลดเกียร์ลงมา ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะเอนจิ้นเบรกจริงๆ แล้วแค่เราทำการผ่อนคันเร่งจนสุด มันก็จะทำงานแล้ว เช่นรถเราวิ่งมาด้วยความเร็วสูงๆ แล้วแค่เราทำการยกคันเร่งจนหมดปลอก ตัวเครื่องยนต์ก็จะเกิดแรงหน่วงขึ้นมาตามธรรมชาติ (หรือที่เรียกกันว่าการกลับหลังของเครื่องยนต์นั่นเอง) ทำให้รถเราชะลอตัวช้าลง ซึ่งพลังของเอนจิ้นเบรกนั้นจะรุนแรงมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับแรงม้าของเครื่องยนต์รถเรานั่นเอง ยิ่งแรงม้ามากเพียงใด เอนจิ้นเบรกในการชะลอตัวของรถก็จะมากตามเท่านั้น เป็นการแปรผกผันกัน สังเกตว่ารถในระดับ 1,000cc นั้นใช้เอนจิ้นเบรกทีก็แทบจะสะดุดกันเลยทีเดียว (หากว่าวิ่งมาเร็วมากๆ) ซึ่งเจ้าเอนจิ้นเบรกนี้ที่ได้ใช้กันบ่อยจริงๆ ก็คือการวิ่งลงเขา หรือว่าลงจากทางชันนั่นเอง เพื่อป้องกันไม่ให้รถเราไหลเร็วมากเกินไปจนควบคุมไม่ได้ ส่วนมากจะใช้เอนจิ้นเบรกในเกียร์ 1, 2 หรือ 3 เท่านั้น (ขึ้นอยู่กับกำลังของรถแต่ละคันอีกที) และแน่นอนว่าในขณะที่เราต้องการใช้เอนจิ้นเบรก ห้ามกำคลัทช์เด็ดขาด เพราะการกำคลัทช์จะเป็นการปิดการทำงานของเอนจิ้นเบรกไปโดยสิ้นเชิงนั่นเอง

จริงๆ แล้วยังมีคำศัพท์เกี่ยวกับระบบต่างๆ ของรถบิ๊กไบค์กันอีกหลายอย่าง แต่บางอย่างนั้นค่อนข้างจะเฉพาะสำหรับรถบางรุ่นเท่านั้น ไม่ค่อยจะได้พบเห็นในรถบิ๊กไบค์ทั่วไป ซึ่งเราจะนำเสนอกันในโอกาสต่อไปอีกที ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเหล่าไบค์เกอร์ทุกท่านกับบทความนี้